แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาชำระบางส่วนให้แก่โจทก์วันที่ 25 ธันวาคม 2537 ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมือ่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงล่วงเลยเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองยอมชำระหนี้แก่โจทก์ 19,181.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,967.72 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยผ่อนชำระทุกวันสิ้นสุดของเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 700 บาท ภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เริ่มชำระงวดแรกเดือนตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมวันที่ 17 กันยายน 2534 คดีถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นวันที่ 17 สิงหาคม 2535 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี
ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้อ้างว่าโจทก์ไม่ขอให้บังคับคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไป การที่โจทก์ขอให้บังคับคดีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงไม่เกิน 10 ปี ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้ดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจกท์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ระยะเวลาการบังคับของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์วันที่ 25 ธันวาคม 2537 ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงล่วงเลยเวลา 10 ปี ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 ของโจทก์โดยมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้พิพากษาแก้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ประกอบมาตรา 141 (5) ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ