แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่า โจทก์จะต้องก่อสร้างผนังด้านหลังชั้น 2 กว้าง 10 เมตร สูง 7 เมตร ทำระเบียงชั้น 2 ด้านหน้า พร้อมทั้งเสาหินอ่อน 2 ต้น ขนาดกว้าง 10 เมตร สูง 3 เมตร โดยไม่คิดค่าแรงเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือระบุให้โจทก์กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้นอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ การที่โจทก์หยุดการทำงานเพราะเหตุดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าจ้าง พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค่าจ้างโจทก์อยู่ 990,000 บาท และจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์เป็นงวด งวดแรกชำระ 450,000 บาท ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ งวดที่สองจะชำระให้อีก 540,000 บาท เมื่อโจทก์นำคนงานมาทำงานที่ค้างอยู่ครบ 3 สัปดาห์ โดยโจทก์ต้องนำคนงานมาทำงานภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ครั้นวันที่ 29 มิถุนายน 2543 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยอ้างว่า จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ชำระเงินจำนวน 540,000 บาท แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีโดยอ้างว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมวันที่ 1 มิถุนายน 2543 โจทก์นำคนงานเข้าไปทำงานก่อสร้างเจดีย์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยปาดังเบซาร์ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2543 จำนวนเงิน 540,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้งวดที่สอง โจทก์นำคนงานเข้าทำงานเต็มวันทั้งในวันที่ 2 และวันที่ 3 มิถุนายน 2543 และทำงานครึ่งวันในวันที่ 4 มิถุนายน 2543 จากนั้นได้หยุดการทำงานตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 5 มิถุนายน 2543 ตามเอกสารหมาย จ.1 แจ้งให้โจทก์ก่อสร้างผนังด้านหลังชั้น 2 กว้าง 10 เมตร สูง 7 เมตร ทำระเบียงชั้น 2 ด้านหน้า พร้อมติดตั้งเสาหินอ่อน 2 ต้น ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 3 เมตร โดยไม่คิดค่าแรงเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม และให้โจทก์ทำบันทึกขอใช้เครนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน โดยให้โจทก์จ่ายค่าเช่าเครนชั่วโมงละ 1,000 บาท ทุกหนึ่งสัปดาห์ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 7 มิถุนายน 2543 ตามเอกสารหมาย ล.4 แจ้งหยุดการทำงานและบอกเลิกการทำงานตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ต่อเติมและแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ชอบ เป็นการประวิงและถ่วงเวลาการทำงานของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งระงับการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะโจทก์หยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 ส่วนโจทก์เบิกความว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมเพราะจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมจากที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้โจทก์ต้องเช่าเครนสำหรับยกสิ่งของจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามที่ตกลงกันไว้ได้โจทก์จึงหยุดการทำงาน เห็นว่า จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ตามปกติการก่อสร้างเจดีย์วัด การก่ออิฐและฉาบปูนเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งมีความสูง 59 เมตร ต้องใช้เครนซึ่งเป็นของวัด ก่อนเกิดเหตุพิพาทกันครั้งนี้จำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ใช้เครนสำหรับยกสิ่งของได้ แต่หลังจากที่โจทก์นำคนงานเข้ามาทำงานในวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้ใช้เครนของวัดเพราะโจทก์ไม่ได้ติดต่อขอเช่า และจำเลยที่ 2 ยังเบิกความต่อไปว่า หลังจากโจทก์นำคนงานเข้าทำงานได้ 3 ถึง 4 วัน จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติ โดยให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมซึ่งเป็นการก่อสร้างนอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ ทำให้คำเบิกความของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่า โจทก์จะต้องก่อสร้างผนังด้านหลังชั้น 2 กว้าง 10 เมตร สูง 7 เมตร ทำระเบียงชั้น 2 ด้านหน้า พร้อมตั้งเสาหินอ่อน 2 ต้น ขนาดกว้าง 10 เมตร สูง 3 เมตร โดยไม่คิดค่าแรงเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม และไม่มีข้อความว่าโจทก์ต้องเช่าเครนสำหรับยกสิ่งของจากจำเลยที่ 1 ในอัตราค่าเช่าชั่วโมงละ 1,000 บาท ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ระบุให้โจทก์กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้นอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ การที่โจทก์หยุดการทำงานเพราะเหตุดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน