แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 2 จ้างบริษัท ค. ให้จัดหาคนงานหรือลูกจ้างในตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่จำเลยที่ 2 กำหนด เพื่อไปทำงานของจำเลยที่ 2 บนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ และงานดังกล่าวจำเลยที่ 2 รับจ้างจากบริษัท ช. ให้ดำเนินการเรื่องเรือเพื่อการผลิต การขนถ่าย และจัดเก็บปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อเตรียมจำหน่าย จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดยมอบหมายให้บริษัท ค. จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธรุกิจจัดหางาน โดยงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วยตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และต่อมาเมื่อได้จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นและจำเลยที่ 1 ได้รับโอนกิจการและพนักงานของบริษัท ค. รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาของบริษัท ค. ที่มีต่อจำเลยที่ 2 มาด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบแปดให้ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 บนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ จำเลยที่ 2 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดด้วย
การทำงานบนเรือมีรอบการทำงานยี่สิบแปดวันและหยุดพักไม่ต้องทำงานยี่สิบแปดวัน เงินค่าพาหนะเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เหมาจ่ายให้เป็นค่าเดินทางจากภูมิลำเนาที่พักมายังท่าเรือจังหวัดระยองเพื่อไปขึ้นทำงานบนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ จะให้ต่อเมื่อต้องเดินทางมาเพื่อขึ้นไปทำงานบนเรือเท่านั้น หากมิใช่รอบที่จะไปทำงานบนเรือก็จะไม่ได้รับเงินค่าพาหนะและโจทก์แต่ละคนได้รับไม่เท่ากัน การจ่ายค่าพาหนะดังกล่าว แม้จะจ่ายโดยเหมาจ่ายให้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบแปดมีกำหนดเวลาทำงานติดต่อกันเป็นช่วง ช่วงละยี่สิบแปดวันที่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งและช่วงที่ไม่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งอีกยี่สิบแปดวันสลับกันไป เงินค่าพาหนะจะจ่ายให้เฉพาะช่วงที่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งและได้รับจำนวนไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงเป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสำหรับค่าเดินทางจากภูมิลำเนาไปยังท่าเรือจังหวัดระยอง มิได้จ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดและมิได้ประสงค์จะจ่ายเป็นค่าจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
ย่อยาว
คดีทั้งยี่สิบแปดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งยี่สิบแปดสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 28 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งยี่สิบแปดสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งยี่สิบแปดฟ้องโดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 12 แก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดแต่ละสำนวน
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม นางอุไรวรรณผู้ปกครองทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งยี่สิบแปด
โจทก์ทั้งยี่สิบแปดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทเชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานการสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยได้จ้างจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินงานในเรื่องเรือเพื่อการผลิต ขนถ่ายและจัดเก็บปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อเตรียมจำหน่าย ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 2 จึงได้จ้างบริษัทเคเอสพี เซอร์วิส แอนด์ เทรด จำกัด ให้จัดหาคนงานหรือลูกจ้างในตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดเพื่อไปทำงานของจำเลยที่ 2 บนเรือชื่อทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ ในปี 2541 ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 และรับโอนกิจการและพนักงานของบริษัทเคเอสพี เซอร์วิส แอนด์ เทรด จำกัด รวมทั้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยที่ 2 มาดำเนินการด้วย จากนั้นจำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญาจ้างลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งยี่สิบแปด ซึ่งบางคนก็เป็นลูกจ้างของบริษัทเคเอสพี เซอร์วิส แอนด์ เทรด จำกัด อยู่เดิม ไปทำงานให้จำเลยที่ 2 บนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ต่อไป โดยเมื่อจะจ้างผู้ใดจำเลยที่ 1 จะส่งไปให้จำเลยที่ 1 (ที่ถูกจำเลยที่ 2) สัมภาษณ์ก่อนจนเป็นที่พอใจตกลงแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะเป็นผู้ทำสัญญาจ้างและกำหนดค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง เมื่อจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแล้วก็จะไปเรียกเก็บค่าบริการจากจำเลยที่ 2 ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของลูกจ้างที่จำเลยทั้งสองได้ตกลงกัน เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบแปด ข้อ 2.2 ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง…(3) ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย การที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้เพื่อให้ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงมีหลักประกันในสิทธิต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มากยิ่งขึ้น โดยสามารถฟ้องเรียกร้องสิทธิแก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงในฐานะนายจ้างได้ และผู้ประกอบกิจการซึ่งว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงก็จะต้องผูกพันตนในฐานะนายจ้างแก่ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง นับแต่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ตนได้มอบให้รับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่ง หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ตนได้มอบหมายให้จัดหาลูกจ้างทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานนั้นได้ทำสัญญาจ้างลูกจ้าง และปลดเปลื้องการผูกพันตนในฐานะนายจ้างนับแต่สัญญาจ้างลูกจ้างนั้นสิ้นสุดลง เว้นแต่ยังมีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานระหว่างตนกับลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงนั้นอยู่ไม่ว่าจะสิ้นสุดสัญญาจ้างกันแล้วหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้จ้างบริษัทเคเอสพี เซอร์วิส แอนด์ เทรด จำกัด ให้จัดหาคนงานหรือลูกจ้างในตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่จำเลยที่ 2 กำหนด เพื่อไปทำงานของจำเลยที่ 2 บนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ และงานดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้รับจ้างจากบริษัทเชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ดำเนินการเรื่องเรือเพื่อการผลิต ขนถ่ายและจัดเก็บปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อเตรียมจำหน่าย จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดยมอบหมายให้บริษัทเคเอสพี เซอร์วิส แอนด์ เทรด จำกัด จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และต่อมาเมื่อได้จัดตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นและจำเลยที่ 1 ได้รับโอนกิจการและพนักงานของบริษัทเคเอสพี เซอร์วิส แอนด์ เทรด จำกัด รวมทั้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาของบริษัทดังกล่าวที่มีต่อจำเลยที่ 2 มาด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบแปดให้ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 บนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ จำเลยที่ 2 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดด้วย โจทก์ทั้งยี่สิบแปดอุทธรณ์ใน ข้อ 2.3 ต่อไปอีกว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดแล้ว การที่จำเลยที่ 2 จัดการให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 27 ทำสัญญาจ้างกับบริษัทใหม่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทำให้อายุงานของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 27 ระงับไปและเริ่มนับอายุงานใหม่ ส่งผลเสียหายต่อการคำนวณค่าชดเชย เป็นการบีบบังคับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 27 โดยไม่สุจริตและไม่เป็นธรรม ผู้รับเหมาค่าแรงจึงเป็นเพียงตัวแทนเชิดของผู้ประกอบกิจการนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 27 แต่ละสำนวนเพียงแต่กล่าวอ้างว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ยกเลิกสัญญาจัดหาลูกจ้างกับจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 มีภาระต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมาก จำเลยที่ 1 จึงหาเหตุเรื่องการมารายงานตัวเพื่อให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 27 และลูกจ้างอื่นขาดงาน จะได้เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การกระทำของจำเลยที่ 1 ในการหาเหตุเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 27 โดยไม่สุจริตเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่านั้น โดยมิได้กล่าวอ้างเหตุเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ตามอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ทั้งยี่สิบแปดอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า เงินค่าค้างคืนนอกฝั่งและค่าพาหนะเป็นค่าจ้างนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานฯ ดังนั้น ค่าจ้างจึงต้องเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายโดยการจ่ายนั้นเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง และเป็นการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติหรือตามผลงานที่ทำได้ในเวลาทำงานปกติ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เงินค่าค้างคืนนอกฝั่งเป็นเงินที่คำนวณจากการทำงานล่วงเวลา ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “การทำงานล่วงเวลา” หมายความว่า การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี ดังนั้น เงินค่าค้างคืนนอกฝั่งจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติ ที่โจทก์ทั้งยี่สิบแปดอุทธรณ์ว่า การทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดในชั่วโมงที่เก้าถึงชั่วโมงที่สิบสองในช่วงที่ค้างคืนนอกฝั่งเป็นระยะเวลาการทำงานตามปกติของโจทก์ทั้งยี่สิบแปด จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนเงินค่าพาหนะนั้น ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า การทำงานบนเรือมีรอบการทำงานยี่สิบแปดวันและหยุดพักไม่ต้องทำงานยี่สิบแปดวัน เงินค่าพาหนะเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เหมาจ่ายให้เป็นค่าเดินทางจากภูมิลำเนาที่พักเดินทางมายังท่าเรือจังหวัดระยองเพื่อไปขึ้นทำงานบนเรือทานตะวัน เอ็กซ์พลอเรอร์ จะให้ต่อเมื่อต้องเดินทางมาเพื่อขึ้นไปทำงานบนเรือเท่านั้น หากมิใช่รอบที่จะไปทำงานบนเรือก็จะไม่ได้รับเงินค่าพาหนะ และโจทก์แต่ละคนได้รับไม่เท่ากัน เห็นว่า การจ่ายค่าพาหนะดังกล่าว แม้จะจ่ายโดยเหมาจ่ายให้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบแปดมีกำหนดเวลาทำงานติดต่อกันเป็นช่วง ช่วงละยี่สิบแปดวันที่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งและช่วงที่ไม่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งอีกยี่สิบแปดวันสลับกันไป เงินค่าพาหนะจะจ่ายให้เฉพาะช่วงที่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งและได้รับจำนวนไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงเป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสำหรับค่าเดินทางจากภูมิลำเนาไปยังท่าเรือจังหวัดระยอง มิได้จ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดและมิได้ประสงค์จะจ่ายเป็นค่าจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าพาหนะนี้เป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น มิใช่ค่าจ้างจึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทั้งยี่สิบแปดในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน.