แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 35 ข้อมูลที่นำไปเปิดเผยอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้ คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้า ส่วนองค์ประกอบความผิดในส่วนของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 35 วรรคแรก คือผู้กระทำที่เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้า จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้กระทำได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ ซึ่งผู้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการเท่านั้น สำหรับองค์ประกอบความผิดในส่วนของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 35 วรรคสอง คือผู้กระทำที่ได้มาหรือล่วงรู้ข้อเท็จจริงใดจากผู้ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ โดยได้มาหรือล่วงรู้เนื่องในการปฏิบัติราชการหรือการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีแล้วเปิดเผยข้อเท็จจริงนั้น ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลโรงงานของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของและผู้ควบคุมความลับทางการค้าเกี่ยวกับกิจการผลิตน้ำหมักสมุนไพรไวน์พลูคาว ตรา โพรแลค (PROLAC) และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 5 จำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิตน้ำหมักสมุนไพรไวน์พลูคาว ตรา โพรแลค (PROLAC) โดยร่วมกันนำสูตรดังกล่าวผลิตและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้อมูลที่นำไปเปิดเผยเป็นความลับทางการค้า มิใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้า ประกอบกับจำเลยทั้งห้ามิใช่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ ซึ่งหมายถึง พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งอันเป็นองค์ประกอบความผิดในมาตรา 35 คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 35
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองมีว่า คดีโจทก์ทั้งสองมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 35 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งตนได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องระวางโทษ… เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการ หรือเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี และวรรคสองบัญญัติว่า ผู้ใดได้มาหรือล่วงรู้ข้อเท็จจริงจากบุคคลตามวรรคหนึ่งเนื่องในการปฏิบัติราชการหรือการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี แล้วเปิดเผยข้อเท็จจริงนั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน มีความหมายว่า ข้อมูลที่นำไปเปิดเผยอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้ คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้า ส่วนองค์ประกอบความผิดในส่วนของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 35 วรรคแรก คือ ผู้กระทำที่เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้าจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้กระทำได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ซึ่งผู้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น สำหรับองค์ประกอบความผิดในส่วนของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 35 วรรคสอง คือผู้กระทำที่ได้มาหรือล่วงรู้ข้อเท็จจริงใดจากผู้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 โดยได้มาหรือล่วงรู้เนื่องในการปฏิบัติราชการหรือการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีแล้วเปิดเผยข้อเท็จจริงนั้น ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลโรงงานของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของและผู้ควบคุมความลับทางการค้าเกี่ยวกับกิจการผลิตน้ำหมักสมุนไพรไวน์พลูคาว ตรา โพรแลค (PROLAC) และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 5 จำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตน้ำหมักสมุนไพรไวน์พลูคาว ตรา โพรแลค (PROLAC) โดยการร่วมกันนำสูตรดังกล่าวผลิตและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้อมูลที่นำไปเปิดเผยเป็นความลับทางการค้า มิใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้า ประกอบกับจำเลยทั้งห้ามิใช่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ซึ่งหมายถึง พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งหรือล่วงรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นความลับจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งอันเป็นองค์ประกอบความผิดในมาตรา 35 คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 35 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน