คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองได้ชกต่อยผู้เสียหายและผู้ตาย และจำเลยที่ 2 ได้ใช้ไม้ตีผู้เสียหายและผู้ตาย จนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายและผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยทั้งสองต่างเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายและผู้ตาย โดยจำเลยทั้งสองต่างมีเจตนาชกต่อยและจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้เสียหายและผู้ตายในเวลาเดียวกันโดยมิได้แบ่งแยกว่าใครเป็นใคร ลักษณะของการกระทำมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงต่างเป็นการกระทำกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 288 และริบไม้ท่อนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 (ที่ถูก มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายและฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจำคุกฐานละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานฆ่าผู้เสียหาย จำคุก 20 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย จำคุก 13 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 24 ปี 12 เดือน ริบไม้ของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียว สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ลงโทษเพียงกระทงเดียว จำคุก 1 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 15 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรม ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองได้ชกต่อยนายอุดม บำเพ็ญ ผู้เสียหายและนายสมหวัง อินทนนท์ ผู้ตาย และจำเลยที่ 2 ได้ใช้ไม้ตีผู้เสียหายและผู้ตาย จนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายและผู้ตายถึงแก่ความตาย เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองต่างเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายและผู้ตาย โดยจำเลยทั้งสองต่างมีเจตนาชกต่อยและจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้เสียหายและผู้ตายในเวลาเดียวกันโดยมิได้แบ่งแยกว่าใครเป็นใคร ลักษณะของการกระทำมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงต่างเป็นการกระทำกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share