แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200บัญญัติว่าให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาใช้บังคับให้ผู้อุทธรณ์เป็นผู้นำส่งสำเนาอุทธรณ์หาได้ไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ในตอนต้นว่า “ฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ปรับรวมเป็นเงิน 26,000 บาท” แม้จะระบุเพิ่มเติมต่อไปว่า”ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระกันคนละกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 13,000 บาท”ก็ถือได้ว่าเป็นเพียงศาลชั้นต้นประสงค์จะแบ่งความรับผิดของจำเลยทั้งสองให้เป็นสัดส่วนเพื่อสะดวกแก่การกักขังแทนค่าปรับเท่านั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของจำเลยแต่ละคน ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเรื่องค่าปรับว่าเป็นการปรับรวมกันมิใช่แยกปรับเป็นรายบุคคลในความผิดฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และแก้ไขเรื่องการจ่ายสินบนนำจับของผู้นำจับและรางวัลของผู้จับโดยแยกให้ชัดเจนตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯและพระราชบัญญัติศุลกากรฯ เช่นนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ลงโทษหนักเกินไปเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
จำเลยทั้งสองถูกปรับรวมกันตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯไม่เกิน 40,000 บาท จึงกักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 เมื่อมีจำเลย 2 คน ต้องแบ่งการกักขังแทนค่าปรับละ 6 เดือน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำไม้ในป่าจังหวัดศรีสะเกษโดยตัดฟันไม้กราด ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ออกจากต้นจำนวน 1 ต้น โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันแปรรูปไม้กราดที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันตัดฟันโดยเลื่อยออกเป็นแผ่นรวมจำนวน 4 แผ่นปริมาตร 0.27 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ภายหลังที่จำเลยแปรรูปไม้แล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีไม้กราดแปรรูปตามจำนวนและปริมาตรดังกล่าวเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับเอาไว้โดยประการใดซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ จำนวน 1 เครื่อง ราคา 5,000บาท ซึ่งผลิตในต่างประเทศอันเป็นของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีอากรขาเข้า เป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท ซึ่งรวมราคาของและค่าอากรเป็นเงิน 6,500 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ,74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5,6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับกับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, 74,74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ4,000 บาท ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ4,000 บาท ฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ปรับรวมเป็นเงิน 26,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระกันคนละกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 13,000 บาท รวมจำคุกคนละ12 เดือน ปรับคนละ 25,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษคดีใดมาก่อน ประกอบกับความผิดไม่ร้ายแรงนัก เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จ่ายสินบนนำจับร้อยละสามสิบของค่าปรับแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลร้อยละห้าสิบของค่าปรับแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามกฎหมาย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 26,000 บาท หากต้องกักขังแทนค่าปรับในความผิดฐานนี้ ให้เฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลย ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบของค่าปรับในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลแก่ผู้จับร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และ 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบเพราะมิได้สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ จึงจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาใช้บังคับให้โจทก์เป็นผู้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาหาได้ไม่การศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า”โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายให้ รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยทั้งสองแก้การส่งให้ปิดได้” จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 26,000 บาท เป็นการพิพากษาเพิ่มค่าปรับไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ชัดแจ้งในตอนต้นแล้วว่า “ฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรปรับรวมเป็นเงิน 26,000 บาท”แม้จะระบุเพิ่มเติมต่อไปว่า “ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระกันคนละกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 13,000 บาท” ก็ถือได้ว่าเป็นเพียงการที่ศาลชั้นต้นประสงค์จะแบ่งความรับผิดของจำเลยทั้งสองให้เป็นสัดส่วนเพื่อสะดวกแก่การกักขังแทนค่าปรับเท่านั้น ไม่ทำให้คำพิพากษาที่ชอบเสียไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3แก้ไขให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษปรับจำเลยกระทงละ 4,000 บาท ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ เป็นใช้ดุลพินิจลงโทษหนักเกินไปนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง,73 วรรคหนึ่ง, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ทวิ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ4,000 บาท ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือนปรับคนละ 4,000 บาท ฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ปรับรวมเป็นเงิน 26,000 บาทซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระกันคนละกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 13,000 บาทรวมจำคุกคนละ 12 เดือนปรับคนละ 25,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษมาก่อนประกอบกับความผิดไม่ร้ายแรงนัก โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางให้จ่ายสินบนนำจับร้อยละสามสิบของค่าปรับแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลร้อยละห้าสิบของค่าปรับแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามกฎหมายศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 26,000 บาท หากต้องกักขังแทนค่าปรับในความผิดฐานนี้ให้เฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลย ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบของค่าปรับในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลแก่ผู้จับร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2468 ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเฉพาะเรื่องค่าปรับว่าเป็นการปรับรวมกันมิใช่แยกปรับเป็นรายบุคคลในความผิดฐานร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และแก้ไขเรื่องการจ่ายสินบนนำจับของผู้นำจับและรางวัลของผู้จับโดยแยกให้ชัดเจนตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติศุลกากรฯ เช่นนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีจำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษหนักเกินไป เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ระบุในคำพิพากษาว่า “…หากต้องกักขังแทนค่าปรับในความผิดฐานนี้ให้เฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลย…”นั้น ไม่ถูกต้อง คดีนี้จำเลยทั้งสองถูกปรับรวมกันตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ไม่เกิน 40,000 บาท จึงกักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 เมื่อมีจำเลย 2 คน ต้องแบ่งการกักขังแทนค่าปรับจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน การกักขังแทนค่าปรับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดไว้เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน เว้นแต่ถ้าจะกักขังจำเลยทั้งสองแทนค่าปรับให้กักขังไว้คนละไม่เกิน 6 เดือน