คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำว่า ค่าจ้าง ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 5 มีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน ประการที่สอง เงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และประการที่สาม ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานด้วย ดังนั้น แม้เงินค่าตรวจรักษาจะเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานตามหลักเกณฑ์ประการแรก แต่เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินที่ผู้เข้ารับการรักษาจ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษา โดยแพทย์ใช้สถานที่ของสถานพยาบาลของโจทก์โดยไม่มีวันและเวลาทำงานปกติ และโจทก์รับเงินดังกล่าวไว้แทน แล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่งตามสัญญาการให้ใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระ เงินค่าตรวจรักษาดังกล่าวจึงเป็นเงินที่แพทย์ได้รับมาจากการประกอบวิชาชีพอิสระ มิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานตามหลักเกณฑ์ ประการที่สอง และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานตามหลักเกณฑ์ประการที่สาม และเมื่อเงินค่าตรวจรักษามิใช่ค่าจ้างแล้วความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์ประจำสถานพยานบาลของโจทก์ในส่วนของเงินค่าตรวจรักษาจึงมิใช่ผู้ที่รับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างและมิใช่ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและยกเลิกคำสั่งตามหนังสือที่ รส 0705/3685 ลงวันที่ 26 กันยายน 2545 และหนังสือเลขที่ รง 0605/4476
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและยกเลิกคำสั่งตามหนังสือที่ รส 0705/3685 ลงวันที่ 26 กันยายน 2545 และหนังสือเลขที่ รง 0605/4476 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2545 เฉพาะในส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมในส่วนของค่าแพทย์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง และ “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร คำว่า ค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัตินี้จึงมีสาระสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน ประการที่สอง เงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และประการที่สาม ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานด้วย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเหมือนกับพนักงานอื่นไม่ต้องลงเวลาทำงานจะมาทำงานตามที่แพทย์สะดวกซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดเอง สามารถหยุดงานได้โดยไม่ต้องแจ้งให้สถานพยาบาลทราบล่วงหน้า หากไม่มาปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ถือว่ามีความผิดการทำงานของแพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์จึงไม่มีวันและเวลาทำงานปกติ อีกทั้งเงินค่าตรวจรักษาที่เรียกเก็บจากผู้เข้ารับการรักษา แพทย์ผู้ตรวจจะเป็นผู้กำหนดเองว่าเรียกจำนวนเท่าใด โจทก์จะเป็นผู้เก็บรักษาไว้โดยแพทย์จะได้รับค่าตรวจตามจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงกับโจทก์ และโจทก์จะมอบให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาภายในวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 ของเดือนถัดไป เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ได้รับจากผู้เข้ารับการรักษาโดยใช้สถานพยาบาลของโจทก์เป็นที่ตรวจรักษาตามสัญญาการให้ใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระ ดังนั้น แม้เงินค่าตรวจรักษาจะเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานตามหลักเกณฑ์ประการแรก แต่เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินที่ผู้เข้ารับการรักษาจ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษา โดยแพทย์ใช้สถานที่ของสถานพยาบาลของโจทก์ โดยไม่มีวันและเวลาทำงานปกติ และโจทก์รับเงินดังกล่าวไว้แทน แล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่งตามสัญญาการให้ใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระ เป็นเงินที่แพทย์ได้รับมาจากการประกอบวิชาชีพอิสระ จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานตามหลักเกณฑ์ประการที่สอง และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานตามหลักเกณฑ์ประการที่สาม เงินค่าตรวจรักษาจึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มแต่อย่างใด และเมื่อเงินค่าตรวจรักษามิใช่ค่าจ้างแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ในส่วนของเงินค่าตรวจรักษา จึงมิใช่ผู้ที่รับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างและมิใช่ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยเฉพาะในส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมในส่วนของค่าแพทย์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share