คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5953/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคแรกบัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่างานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ…(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง (5)…” และมาตรา 77 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา 54 มาตรา 55 หรือการหักเงินตามมาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ” จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นเจตนารมณ์ได้ว่า การห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด อันจะทำให้รายได้จากการทำงานลดลง และลูกจ้างอาจหมดกำลังใจในการทำงานที่ไม่ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยนายจ้างจะหักได้ก็เฉพาะกรณีเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้เท่านั้น และสำหรับกรณีหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้น จะหักได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้างโดยนายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะอีกด้วย เมื่อพิเคราะห์เจตนารมณ์ของการห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดดังกล่าว ประกอบกับข้อที่ว่านายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า การห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่คู่สัญญายังคงมีสภาพเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่เท่านั้น คดีนี้ในขณะที่จำเลยฟ้องแย้ง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไปก่อนแล้ว ทั้งจำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน จึงนำบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 และมาตรา 77 มาปรับใช้อ้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยไม่ได้ แต่ศาลแรงงานกลางมิได้ฟังข้อเท็จจริงมาให้ชัดเจนว่าน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำอัดลมบรรจุขวดที่บริษัท ท. และบริษัท น. ส่งมอบให้จำเลยแล้วมีมูลค่าเท่าใด ยังค้างชำระอยู่อีกเท่าใด ซึ่งศาลฎีกาไม่มีอำนาจกระทำได้ จึงต้องส่งสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 19,666 บาท กับจ่ายค่าคอมมิชชั่น 14,605.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 167,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 29,999.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 กันยายน 2547 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หากโจทก์ไม่สามารถติดตามทวงถามให้จำเลยได้รับเงินค่าโฆษณาหรือนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนตามอัตราโฆษณาจนครบถ้วน ยังขาดจำนวนเท่าใดจำเลยมีสิทธิหักเงินค่าจ้างจากโจทก์เป็นการชำระค่าโฆษณาดังกล่าว โดยทยอยหักเป็นคราว ๆ ไป เมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างมิได้จัดทำเป็นหนังสือและให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างลงลายมือชื่อให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 77 ทั้งโจทก์และจำเลยมิได้ทำสัญญาจ้างแรงงานไว้ระหว่างกันโดยมีข้อสัญญาในการหักเงินค่าจ้างแทนการชำระค่าโฆษณา โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลย เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคแรกบัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ…(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง (5)…” และมาตรา 77 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา 54 มาตรา 55 หรือการหักเงินตามมาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ” จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นเจตนารมณ์ได้ว่า การห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด อันจะทำให้รายได้จากการทำงานลดลง และลูกจ้างอาจหมดกำลังใจในการทำงานที่ไม่ได้รับเงินเดือนเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยนายจ้างจะหักได้ก็เฉพาะกรณีเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้เท่านั้น และสำหรับกรณีหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้น จะหักได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้างโดยนายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะอีกด้วย เมื่อพิเคราะห์เจตนารมณ์ของการห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดดังกล่าว ประกอบกับข้อที่ว่านายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า การห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่คู่สัญญายังคงมีสภาพเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่เท่านั้น คดีนี้ในขณะที่จำเลยฟ้องแย้ง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไปก่อนแล้ว ทั้งจำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน จึงนำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 และมาตรา 77 มาปรับใช้อ้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแต่เพียงว่า จำเลยได้รับค่าโฆษณารายบริษัททิมแสง 2000 จำกัด โดยได้รับมอบเครื่องฟอกอากาศ มูลค่า 100,000 บาท ครบถ้วนแล้ว และได้รับมอบน้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำอัดลมบรรจุขวดไว้จากบริษัท ที ที ซี น้ำดื่มสยาม จำกัด และบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด ไว้หลายครั้ง แต่ยังไม่ครบถ้วน โดยมิได้ฟังข้อเท็จจริงมาให้ชัดเจนว่า น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำอัดลมบรรจุขวดที่บริษัท ที ที ซี น้ำดื่มสยาม จำกัด และบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด ส่งมอบให้จำเลยแล้วมีค่าเท่าใด ยังค้างชำระอยู่อีกเท่าใด ซึ่งศาลฎีกาไม่มีอำนาจกระทำได้ จึงต้องส่งสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้รับชำระค่าโฆษณาจากบริษัท ที ที ซี น้ำดื่มสยาม จำกัด และบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด รวมเป็นเงินเท่าใด และพิพากษาในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share