คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4777/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้าง ข้อ 11 ที่จำเลยตกลงทำสัญญากับโจทก์ว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยจะไม่ไปทำงานกับบริษัทซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์หรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจการค้าของโจทก์ ข้อห้ามดังกล่าวมิได้กำหนดพื้นที่ กำหนดแต่ระยะเวลาห้ามและการกระทำที่ห้ามซึ่งในคดีนี้คือการเข้าทำงานในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสายการบินแข่งขันกับโจทก์ เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาขาหรือประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง แม้บริษัท ด. ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง จะเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ บริษัทดังกล่าวก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์เป็นเอกเทศ ถือไม่ได้ว่าธุรกิจของบริษัท ด. เป็นธุรกิจของโจทก์และไม่ปรากฏว่าบริษัท ด. ประกอบธุรกิจโดยนำผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไปจำหน่าย แม้จะมีผู้ประกอบธุรกิจแข่งขันกับบริษัท ด. ก็ไม่มีผลกระทบถึงธุรกิจของโจทก์ การที่จำเลยเข้าทำงานกับบริษัท ว. ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง จึงไม่เป็นการเข้าทำงานในบริษัทอื่นที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยหยุดทำงานในบริษัทวอเตอร์มาร์ค เอเชีย จำกัด และห้ามไม่ให้เข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หรือกระทำการใดไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 กับให้จำเลยคืนเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการผลิต นำเข้า ส่งออก ขายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการบริการบนเครื่องบิน จำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ เข้าทำงานเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.ล.1 ซึ่งข้อ 11 กำหนดว่า ในกรณีที่สัญญาจ้างนี้สิ้นสุดลงเนื่องจากการลาออกของลูกจ้าง ลูกจ้างตกลงว่าภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลาออกลูกจ้างจะไม่เข้าร่วมทำงานในบริษัทหรือกิจการอื่นใดที่เป็นการแข่งขันไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทวอเตอร์ สเตอร์ เอซีเอส เอเชีย แอนด์แปซิฟิค จำกัด ในธุรกิจเกี่ยวกับสายการบิน หากการว่าจ้างถูกบอกเลิกโดยนายจ้างจะไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับเงื่อนไขการจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายจำเลยเป็นผู้จัดการแผนกบริการลูกค้า มีหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับการซื้อขายระหว่างโจทก์กับลูกค้า วันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยลาออกจากงานและโจทก์อนุมัติโดยจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่จำเลยไป 70,000 บาท จากนั้นจำเลยได้ไปทำงานที่เมืองฮ่องกงกับบริษัทดูนี่ฮ่องกง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์และประกอบกิจการเช่นเดียวกับโจทก์ ครั้นวันที่ 7 สิงหาคม 2546 จำเลยได้ลาออกจากบริษัทดูนี่ ฮ่องกง จำกัด และวันที่ 1 กันยายน 2546 จำเลยได้เข้าทำงานกับบริษัทวอเตอร์มาร์ค เอเชีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกวัสดุเกี่ยวกับการบริการด้านอาหารที่เมืองฮ่องกงแล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาเรื่องจำเลยทำผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 11 หรือไม่ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยความสมัครใจของคู่กรณีเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีเป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพรวมทั้งความสามารถและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานของผู้ถูกจำกัดสิทธิด้วยและมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ข้อตกลงจำกัดสิทธิตามสัญญาจ้างเอกสาร จ.ล.1 ข้อ 11 กำหรดระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานของจำเลยเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลาออก แต่มิได้ระบุถึงขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามจำเลยไว้ มิได้กำหนดว่าให้ครอบคลุมถึงเมืองฮ่องกงหรือทั่วทวีปเอเซียแปซิฟิค ที่โจทก์มีบริษัทในเครือตั้งอยู่ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าบริษัทดูนี่ ฮ่องกง จำกัด เป็นบริษัทในเครือของโจทก์ที่เมืองฮ่องกง ก็ถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยลาออกจากงานแล้วเข้าทำงานกับบริษัทวอเตอร์มาร์ค เอเชีย จำกัด ที่เมืองฮ่องกง ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลาออก เป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้าง จ.ล.1 ข้อ 11 และวินิจฉัยเรื่องโจทก์มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 70,000 บาท คืนหรือไม่ว่า ทนายโจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ว่า โจทก์จ่ายเงินจำนวน 70,000 บาท ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.ล.3 ให้แก่จำเลยเป็นการช่วยเหลือในการที่ลาออกจากงานโดยไม่ปรากฏว่ามีเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่จำเลยจะต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ทั้งคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วเขาทำงานกับบริษัทวอเตอร์มาร์ค เอเชีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกวัสดุเกี่ยวกับการบริการด้านอาหารอยู่ที่เมืองฮ่องกง ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยลาออก เป็นการผิดสัญญาจ้างโดยฝ่าฝืนข้อตกลงห้ามทำงานในบริษัทหรือกิจการอื่นใดที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ในธุรกิจเกี่ยวกับสายการบินภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ลาออก ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 11 หรือไม่ เห็นว่า ข้อห้ามดังกล่าวมิได้กำหนดพื้นที่ กำหนดแต่ระยะเวลาห้ามและการกระทำที่ห้ามซึ่งในคดีนี้คือการเข้าทำงานในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสายการบินแข่งขันกับโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์และคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาขาหรือประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง แม้บริษัทดูนี่ ฮ่องกง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกงจะเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ บริษัทดังกล่าวก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์เป็นเอกเทศ ถือไม่ได้ว่าธุรกิจของบริษัทดูนี่ ฮ่องกง จำกัด เป็นธุรกิจของโจทก์และไม่ปรากฏว่าบริษัทดูนี่ ฮ่องกง จำกัด ประกอบธุรกิจโดยนำผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไปจำหน่าย แม้จะมีผู้ประกอบธุรกิจแข่งขันกับบริษัทดูนี่ ฮ่องกง จำกัด ก็ไม่มีผลกระทบถึงธุรกิจของโจทก์ การที่จำเลยเข้าทำงานกับบริษัทวอเตอร์มาร์ค เอเชีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกงจึงไม่เป็นการเข้าทำงานในบริษัทอื่นที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 11 ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share