คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3593/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความและเอกสารหลายฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อให้จำเลยนำไปถอนฟ้อง แต่จำเลยกับ อ. กลับสมคบกันกรอกข้อความในใบแต่งทนายความดังกล่าวเป็นว่าโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับ อ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่างอ้างมาในคำฟ้อง กระบวนพิจารณาที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นตามนั้นด้วยแต่อย่างใดจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบจะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยต่อเนื่องกัน 3 ฉบับ โดยจำนองที่ดินมีโฉนด 2 แปลง เพื่อเป็นประกันหนี้ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ชำระหนี้แก่จำเลยบางส่วนเป็นเงิน 100,000 บาท กับค่าขึ้นศาลอีก 40,000 บาท พร้อมกับให้โจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความและเอกสารหลายฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยไป จนเมื่อเดือนมิถุนายน 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดิน 2 แปลง ที่โจทก์จำนองไว้แก่จำเลยเพื่อบังคับในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 90/2542 ของศาลชั้นต้น โจทก์จึงทราบว่าจำเลยสมคบกับนายอดิศักดิ์ เงินทอง นำใบแต่งทนายความที่จำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปกรอกข้อความเป็นว่าโจทก์แต่งตั้งนายอดิศักดิ์เป็นทนายความของโจทก์ เพื่อให้ศาลชั้นต้นเชื่อว่านายอดิศักดิ์เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับนายอดิศักดิ์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า โจทก์ยอมชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 1,571,128.16 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนหากผิดนัดยอมให้บังคับคดีได้ทันที และศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งความจริงแล้วโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้น สัญญาประนีประนอมยอมความจึงตกเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อการแสดงเจตนาและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่อาจมีผลผูกพันโจทก์ ขอให้พิพากษาว่า คำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 90/2542 ของศาลชั้นต้นไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ใบแต่งทนายความจำเลยและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หากโจทก์เห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมนั้นไม่ถูกต้อง ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้พิพากษาว่าคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันโจทก์ ส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าใบแต่งทนายความเป็นโมฆะ ก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากคำขอดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้อง จึงไม่รับฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของโจทก์ตามคำฟ้องแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์ยินยอมมอบหมายให้ทนายความที่จำเลยจัดหาให้เป็นตัวแทนของโจทก์ในการดำเนินคดี คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันโจทก์ หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะอุทธรณ์ จะฟ้องขอให้ทำลายคำพิพากษาของศาลนั้นเองไม่ได้ แต่ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสาม พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ห้ามมิให้โจทก์นำคดีมาฟ้อง เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความและเอกสารหลายฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อให้จำเลยนำไปถอนฟ้อง แต่จำเลยกับนายอดิศักดิ์ เงินทอง กลับสมคบกันกรอกข้อความลงในใบแต่งทนายความดังกล่าวเป็นว่าโจทก์แต่งตั้งนายอดิศักดิ์เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับนายอดิศักดิ์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง กระบวนพิจารณาที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นตามนั้นด้วยแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนี้โจทก์จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบจะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน

Share