แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์กับโจทก์ร่วมกันคืนเป็ดแก่ ป. หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลชำระหนี้แก่ ป. ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ซึ่ง ป. ได้รับเงินแล้วโจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองก่อนที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 อายุความที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่อยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. ซึ่งการฟ้องของโจทก์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ศาลฎีกาวินิจฉัยในคดีก่อนว่า จำเลยทั้งสองยึดเป็ดของ ป. ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อ ป. แม้โจทก์กับจำเลยทั้งสองจะเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนก็ตาม ก็ต้องถือว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วย คำพิพากษาของศาลฎีกาจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสองด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองไม่อาจกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโต้แย้งให้ฟังเป็นอื่นได้อีก
จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อ ป. เป็นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ที่เป็นนิติบุคคล โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลเพื่อใช้ราคาเป็ดแก่ ป. ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 711,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 711,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 สิงหาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 304,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกราคาเป็ดส่วนที่ชดใช้เกินภายในอายุความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะฎีกาของโจทก์จากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังยุติแล้วว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมในกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2533 ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่และสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูรธรอำเภอพรหมพิราม ซึ่งอยู่ในสังกัดของโจทก์ตามลำดับ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยึดเป็ดจำนวน 16,959 ตัว เป็นของกลางในคดีคนร้ายปล้นทรัพย์เอาเป็ดของนายสำเริง รุกขชาติ ไป แต่นายประทุม คงคำ โต้เถียงกรรมสิทธิ์และตกลงกันไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงแบ่งเป็ดของกลางมอบให้นายประทุมเป็นผู้ดูแลรักษาจำนวน 9,036 ตัว และให้นายสำเริงดูแลรักษาจำนวน 7,923 ตัว โดยมีข้อตกลงว่าเป็ดเสียหายหรือตายต้องชดใช้ราคาตัวละ 45 บาท ตามบันทึกรับมอบเป็ดของกลางไว้เก็บรักษา เอกสารหมาย ป.ล.1 ต่อมานายประทุมได้ฟ้องโจทก์และจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันคืนเป็ด จำนวน 15,800 ตัว ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้โจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเป็ดจำนวน 15,800 ตัว แก่นายประทุม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนตัวและ 45 บาท ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 725/2538 เอกสารหมาย จ.3 โจทก์ได้นำเงินจำนวน 711,000 บาท ไปวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายประทุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 และนายประทุมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาลแล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยทั้งสองกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นและโจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ส่วนมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 นั้น เป็นเรื่องที่หากว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองในค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์นำเงินไปวางศาล เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 เพื่อชำระหนี้ให้แก่นายประทุม จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 9 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ภายหลังวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองแล้ว อายุความที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่อยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่นายประทุมดังกล่าว ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปจึงไม่ขาดอายุความ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองยึดเป็ดของนายประทุมไว้ เนื่องจากมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์เป็ดของกลางระหว่างนายประทุมกับนายสำเริงผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายปล้นเป็ดจำเลยทั้งสองไม่สามารถแยกเป็ดของกลางได้ว่าเป็นของผู้ใดจึงแบ่งเป็ดให้นายประทุมรับไปดูแลจำนวน 9,036 ตัว ให้นายสำเริง ดูแลจำนวน 8,024 ตัว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำให้เป็ดตายหรือเสียหายชดใช้เงินตัวละ 45 บาท เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และมีระเบียบให้ปฏิบัติได้ โจทก์จึงไม่เสียหายนั้น เห็นว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 725/2538 ที่โจทก์และจำเลยทั้งสองถูกนายประทุมฟ้องเป็นจำเลยร่วมกันให้คืนเป็ดหรือชดใช้ราคานั้นได้วินิจฉัยว่า เป็ดของกลาง 15,800 ตัว มีเป็ดผ่าตีนอยู่ 12,800 ตัว ไม่ผ่าตีน 3,000 ตัว สามารถแยกความแตกต่างของเป็ดทั้งสองชนิดได้ นายสำเริงผู้เสียหายก็รับว่าเป็ดที่ผ่าตีนไม่ใช่ของตนและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคนร้ายนำเป็ดที่ปล้นไปรวมไว้กับฝูงเป็ดของนายประทุมน่าเชื่อว่า เป็ดของกลางเป็นของนายประทุมทั้งหมด จำเลยไม่มีสิทธิยึดเป็ดของกลางต่อไปอีก จำเลยต้องคืนเป็ดของกลางดังกล่าวให้แก่นายประทุม จึงเป็นการวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองยึดเป็ดของนายประทุมไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำละเมิดต่อนายประทุม แม้โจทก์กับจำเลยทั้งสองคดีนี้จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วยคำพิพากษาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองคดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก จำเลยทั้งสองไม่อาจกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโต้แย้งให้ฟังเป็นอื่นได้อีก ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อนายประทุม เมื่อคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวให้โจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเป็ดของกลางแก่นายประทุม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องคืนเป็ดของกลางดังกล่าว ส่วนโจทก์เป็นนิติบุคคลที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองด้วยเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการคืนเป็ดของกลางแก่นายประทุม การที่โจทก์นำเงินใช้ราคาเป็ดไปวางศาลเพื่อชำระให้แก่นายประทุมนั้นจึงเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่ต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมพิรามเรียกเป็ดของกลางจากนายสำเริงมาคืนให้แก่นายประทุม การกระทำของโจทก์จึงไม่ได้ประมาทเลินเล่อตามข้ออ้างของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อนายประทุม และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลเพื่อใช้ราคาเป็ดให้แก่นายประทุมตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว จึงมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เป็ดของกลางที่นายสำเริงรับไปดูแลตายหมด นายสำเริงต้องใช้ราคาเป็ดเป็นเงิน 304,380 บาท ให้แก่โจทก์และนายสำเริงได้ทำบันทึกชดใช้ค่าเสียหายเป็ดรวมเป็นเงิน 304,380 บาท โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 6,000 บาท ให้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมพิรามไว้ โจทก์จึงไม่เสียหายนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อีกทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน