คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4369/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มีเจตนารมณ์ที่จะบัญญัติเป็นความผิดโดยเฉพาะสำหรับเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ เป็นเพียงผู้ดูแลคอมพิวเตอร์และดูแลร้านที่เกิดเหตุโดยร้านที่เกิดเหตุมีนาย ส. เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ แต่ใบอนุญาตขาดอายุแล้ว แสดงให้เห็นว่า ร้านที่เกิดเหตุมีผู้อื่นดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อยู่แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 70 และ 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 20 และ 34 ประมวลกฎมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91 ให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) และ 70 วรรคสอง และพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 และ 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ลงโทษปรับ 50,000 บาท ฐานฉายและให้บริการเผยแพร่เทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 3,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นปรับ 53,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีการเปิดเพลง “รอ” ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในร้านที่เกิดเหตุให้ลูกค้าร้องคาราโอเกะ เมื่อทำการตรวจสอบพบเพลงดังกล่าวในเครื่องประมวลผล (ซีพียู) เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยซึ่งอยู่ในร้านที่เกิดเหตุพร้อมของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ เป็นเพียงลูกจ้าง มีหน้าที่คุมเครื่องเสียงและบริการอาหารและมีรายได้เป็นเงินเดือน จำเลยจึงไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดเพลงดังกล่าว เพลงที่อยู่ในเครื่องประมวลผล (ซีพียู) เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และร้านที่เกิดเหตุได้รับอนุญาตเผยแพร่การใช้งานดนตรีของผู้เสียหายแล้ว เห็นว่า ในประเด็นที่ว่าเพลงที่อยู่ในเครื่องประมวลผล (ซีพียู) เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่นั้น โจทก์มีนายชัชวาลย์ ธนชวาลวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจช่วง เบิกความว่า พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ร้านที่เกิดเหตุ ในเวลาที่เกิดเหตุ เมื่อมีการเปิดเพลง “รอ” ของผู้เสียหาย พยานและเจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าทำการตรวจสอบ และขอดูใบอนุญาตเผยแพร่การใช้งานดนตรีของผู้เสียหายกับเครื่องสัญญาณที่ได้รับอนุญาต (Start Up) ปรากฏว่าร้านที่เกิดเหตุไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หากเป็นเพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เมื่อเปิดเพลงปรากฏสัญลักษณ์ของผู้เสียหาย และจบเพลงจะปรากฏมิติของผู้เสียหาย แต่เพลง “รอ” ที่เปิดในเวลาเกิดเหตุ และจบเพลงจะปรากฏมิติของผู้เสียหาย แต่เพลง “รอ” ที่เปิดในเวลาเกิดเหตุไม่มีสัญลักษณ์มิติของผู้เสียหาย เมื่อพิจารณาพยานโจทก์ดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ร้านที่เกิดเหตุไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับชำระค่าอนุญาตเผยแพร่การใช้งานดนตรีของผู้เสียหาย พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่า เพลง “รอ” ในเครื่องประมวลผล (ซีพียู) นั้น เป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายสำหรับพยานหลักฐานของจำเลย เช่น หนังสือตกลงขอรับสิทธิเผยแพร่ในสถานประกอบการคาราโอเกะเอกสารหมาย ล.4 (เอกสารหมาย จ.10) นั้น เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของฝ่ายจำเลยและเป็นการจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว ไม่แน่ว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อใด และมีการจัดส่งให้แก่ผูเสียหายจริงหรือไม่ และสำเนาปกแผ่นคาราโอเกะท้ายเอกสารหมาย จ.10 ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นปกแผ่นคาราโอเกะที่จำเลยกล่าวอ้างว่าซึ้อมาถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐานการซื้อสินค้าดังกล่าวมาแสดงให้ปรากฏแต่อย่างใด ส่วนหลักฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นใบรับเงินชั่วคราว นามบัตร เอกสารของบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด รายชื่อบริษัท/ค่ายเพลง เจ้าของลิขสิทธิ์งานเพลง และสำเนาบัตรเจ้าหน้าที่จัดเก็บลิขสิทธิ์ เอกสารหมาย ล.6 และสำเนาปกแผ่นคาราโอเกะ เอกสารหมาย ล.8 ล้วนไม่เกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ สำหรับพยานจำเลยปากนายสุริยา คำวิชิต และนายสมบูรณ์ นันทศิลปชัย นั้นต่างไม่ได้รู้เห็นโดยตรงหรือเกี่ยวข้องกับการซื้อแผ่นคาราโอเกะของร้านที่เกิดเหตุจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ จำเลยคงมีแต่คำเบิกความของตัวจำเลย นายสำเริง ประเสริฐศักดิ์ ซึ่งเป็นทนายจำเลยและเป็นสามีของหุ้นส่วนร้านที่เกิดเหตุ และนายสิทธิเดช กุนเรือง ซึ่งตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ.14 ระบุว่าเป็นหุ้นส่วนของร้านที่เกิดเหตุอีกคนหนึ่งเท่านั้นพยานบุคคลของจำเลยดังกล่าวล้วนเกี่ยวข้องกับจำเลยและร้านที่เกิดเหตุทั้งสิ้น การรับฟังพยานหลักฐานจึงต้องเป็นไปโดยระมัดระวัง แม้พยานจำเลยดังกล่าวเบิกความประกอบพยานเอกสารข้างต้นยืนยันว่า เพลง “รอ” ในเครื่องประมวลผล (ซีพียู) มีการซื้อมาถูกต้อง แต่พยานเอกสารดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เช่นนี้ พยานหลักฐานจำเลยย่อมไม่อาจรับฟังได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่า เพลง “รอ” ในเครื่องประมวลผล (ซีพียู) มีการซื้อมาถูกต้อง ดังนี้ จำเลยย่อมไม่อาจอ้างสิทธิตามหนังสือตกลงขอรับสิทธิเผยแพร่ในสถานประกอบการคาราโอเกะ เอกสารหมาย ล.5 (เอกสารหมาย จ.10) ได้ เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดอีก ย่อมรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า ร้านที่เกิดเหตุเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต อนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ แต่จำเลยก็เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องของการเผยแพร่งานดังกล่าวในร้าน ประกอบกับคำเบิกความของจำเลยแสดงว่าจำเลยทราบเรื่องเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นอย่างดี พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นในการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายด้วย จำเลยย่อมมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมามีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโสตทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 ดังนั้น ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 และมาตรา 34 มานั้นจึงไม่ชอบ แต่การอ้างบทกฎหมายผิดดังกล่าว โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงตามฟ้องได้แล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า อนึ่ง ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 ดังกล่าว มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ลงโทษจำเลยปรับ 3,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญญาข้อเท็จจริงสำหรับความผิดฐานนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 (4) อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดข้อหานี้เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่รับวินิจฉัยให้ และถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังไว้ด้วย คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องพิจารณาว่า จำเลยมีความผิดฐานนี้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 38 บัญญัติว่า เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า การฉายหรือการให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์จะต้องกระทำในวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาต ดังนี้ แสดงว่าบทบัญญัติมาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มีเจตนารมณ์ที่จะบัญญัติเป็นความผิดโดยเฉพาะสำหรับเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ เป็นเพียงผู้ดูแลคอมพิวเตอร์และดูแลร้านที่เกิดเหตุ โดยร้านที่เกิดเหตุมีนายสำเริง ประเสริฐศักดิ์ เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ แต่ใบอนุญาตขาดอายุความแล้ว ปรากฏตามใบอนุญาตให้ฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ เอกสารหมาย จ.12 แสดงให้เห็นว่า ร้านที่เกิดเหตุมีผู้อื่นดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อยู่แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 38 ดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต คงปรับจำเลย 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share