แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การริบทรัพย์สินในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะย่อมเป็นอำนาจทั่วไปของศาลที่จะริบได้ตามที่ ป.อ. บัญญัติไว้ เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางแล้ว และของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้อ้างกฎหมายที่ให้อำนาจโจทก์ในการขอริบรถยนต์บรรทุกของกลางหรือ ป.อ. มาตรา 33 มาด้วย ศาลก็มีอำนาจริบรถยนต์บรรทุกของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ถูกต้องได้
ในคดีอาญาที่ไม่จำต้องสืบพยานประกอบ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ตามฟ้องของโจทก์ หากจำเลยจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นต้องยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ มิฉะนั้นถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นยานพาหนะที่มี 2 เพลา 6 ล้อ ชนิดเพลาที่ 2 เป็นเพลาคู่ใช้ยางคู่ บรรทุกข้าวโพด รวมน้ำหนักยานพาหนะและน้ำหนักบรรทุก 19,450 กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าอัตราที่ผู้อำนวยการทางหลวงกำหนดไว้ 15,500 กิโลกรัม ตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน ขับไปบนถนนอันเป็นทางหลวงแผ่นดินโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 (ที่ถูกมาตรา 61 วรรคหนึ่ง), 73 จำคุก 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางโดยมิได้อ้างกฎหมายที่ให้อำนาจโจทก์ในการขอริบรถยนต์บรรทุกของกลางหรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มาในฟ้องด้วยจึงริบรถยนต์บรรทุกของกลางไม่ได้นั้น เห็นว่า การริบทรัพย์สินในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะย่อมเป็นอำนาจทั่วไปของศาลที่จะริบได้ตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางแล้วและของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้อ้างกฎหมายที่ให้อำนาจโจทก์ในการขอริบรถยนต์บรรทุกของกลางหรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มาด้วยก็ตาม ศาลก็มีอำนาจริบรถยนต์บรรทุกของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ที่กฎหมายกำหนดว่าข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอุทธรณ์นั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้น ใช้เฉพาะกับคดีที่มีการสืบพยานเท่านั้น แต่คดีนี้ไม่มีการสืบพยาน จำเลยจึงไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริง เรื่องน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกของกลางต่อศาลชั้นต้นได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่จำต้องว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในเรื่องนี้ของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางมีน้ำหนักบรรทุกรวมน้ำหนักรถเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หากจำเลยจะโต้เถียงว่าเหตุที่รถยนต์บรรทุกของกลางมีน้ำหนักบรรทุกรวมน้ำหนักรถเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เพราะสภาพอากาศชื้นทำให้ข้าวโพดที่จำเลยบรรทุกมามีน้ำหนักมากขึ้น จำเลยต้องยกเป็นข้อต่อสู้ไว้เพื่อสืบพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยในเรื่องนี้จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน