คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ลูกหนี้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 28 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติ ต่อมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่ง ณ วันที่ 25 ธันวาคม ให้เพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดที่ให้แก่ลูกหนี้แล้ว กรณีจึงถือได้ว่าลูกหนี้ไม่เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ต้นและต้องเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของราคาและอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 55 ดังนั้น มูลค่าหนี้ภาษีอากรที่เจ้าหนี้ทั้งสองแจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ชำระและนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้นจึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ทั้งสองอาจนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนแล้ว เจ้าหนี้ทั้งสองมิได้รับแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อเจ้าหนี้ทั้งสองในบัญชีเจ้าหนี้ กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้แล้วว่า เป็นพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ทั้งสองไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/36 และเจ้าหนี้ทั้งสองได้เร่งดำเนินการไปตามขั้นตอนปฏิบัติราชการเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการภายในเวลาอันสมควรภายหลังจากทราบว่าลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว กรณีจึงมีเหตุผลสมควรที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน
เจ้าหนี้ทั้งสองยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าภาษีอากร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวเนื่องจากยื่นเกินกำหนดเวลา ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง
เจ้าหนี้ทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้าหนี้ทั้งสองมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบิกษา เนื่องจากลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการโดยมิได้ระบุชื่อเจ้าหนี้ทั้งสองในบัญชีเจ้าหนี้มาพร้อมคำร้องขอ เจ้าหนี้ทั้งสองจึงไม่ได้รับสำเนาคำร้องขอดังกล่าว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนให้เจ้าหนี้ทั้งสองทราบได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/6, 90/9, 90/24 วรรคสอง เจ้าหนี้ทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าลูกหนี้ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยเจ้าหนี้ทั้งสอง ขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
เจ้าหนี้ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ทั้งสองว่า มีเหตุสมควรรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า ขณะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ลูกหนี้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 28 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติ ตามสำเนาบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเอกสารหมาย ร.17 ต่อมาเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนแล้วเจ้าหนี้ทั้งสองมิได้รับแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เนื่องจากไม่ปรากฏรายชื่อเจ้าหนี้ทั้งสองในบัญชีเจ้าหนี้ ต่อมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่ง ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2546 ให้เพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดที่ให้แก่ลูกหนี้แล้วตามสำเนาคำสั่งและสำเนาหนังสือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเอกสารหมาย ร.6 และ ร.18 กรณีจึงถือได้ว่าลูกหนี้ไม่เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ต้นและต้องเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของราคาและอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 55 ดังนั้น มูลหนี้ค่าอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ปี 2542 และ 2544 รวมเป็นเงิน 571,307.45 บาท ตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีเอกสารหมาย ร.7 และ ร.9 ที่เจ้าหนี้ทั้งสองแจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ชำระและนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้นจึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ทั้งสองอาจนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าเจ้าหนี้ทั้งสองไม่เคยได้รับแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เนื่องจากไม่ปรากฏรายชื่อเจ้าหนี้ทั้งสองในบัญชีเจ้าหนี้ และจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าเพื่อเจ้าหนี้ที่ 2 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/8, 83/10 เพิ่งทราบว่าลูกหนี้ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหนังสือแจ้งให้ผู้อำนวยการส่วนคดี สำนักกฎหมายของเจ้าหนี้ที่ 1 ทราบเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2547 ตามสำเนาหนังสือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเอกสารหมาย ร.5 สำนักกฎหมายของเจ้าหนี้ที่ 1 จึงตรวจสอบข้อมูลไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และมีหนังสือแจ้งตรวจสอบภาระหนี้ค่าภาษีอากรของลูกหนี้ทั่วราชอาณาจักรแล้วเสนอพิจารณาอนุมัติขอยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยด่วนไปตามขั้นตอนปฏิบัติราชการ เจ้าหนี้ทั้งสองจึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547… กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้แล้วว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ทั้งสองไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 และเจ้าหนี้ทั้งสองได้เร่งดำเนินการภายในเวลาอันสมควร ภายหลังจากทราบว่าลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าหนี้ทั้งสองที่คัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองไว้พิจารณานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองไว้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 90/26 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483

Share