แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 ของเดือนเมษายน 2541 สองครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 มีภาษีซื้อที่ชำระเกินเป็นจำนวน 8,554.17 บาท ซึ่งโจทก์ขอนำภาษีซื้อที่ชำระเกินไปนี้ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป ต่อมาโจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 ครั้งที่สอง ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 โดยแจ้งยอดภาษีซื้อเกินเป็นจำนวน 40,853.80 บาท กรณีของโจทก์ถือได้ว่า การยื่นแบบ ภ.พ.30 ครั้งที่สอง แม้จะเป็นการยื่นภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปก็ตามก็เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมเนื่องจากโจทก์ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าการคลาดเคลื่อนนั้นจะเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม ตามป.รัษฎากรฯ มาตรา 83/4 ซึ่งเข้าข้อยกเว้นของมาตรา 84 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม เพราะการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 83/4 ก็ให้มีสิทธิขอคืนภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีจากการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมนั้น ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงขอคืนภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีจากการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 เท่านั้น ไม่มีสิทธินำไปเป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2543 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้แจ้งประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เดือนภาษีพฤษภาคม 2541 ให้โจทก์ชำระภาษีจำนวน 40,853.94 บาท เงินเพิ่มจำนวน 12,256.18 บาท รวมเป็นเงิน 53,110.12 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ในวันที่ 14 มิถุนายน 2545 โจทก์ได้ทราบผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เดือนภาษีเมษายน 2541 โดยมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจำนวน 8,554.17 บาท ซึ่งโจทก์ได้นำไปถือเป็นเครดิตภาษีซื้อในเดือนถัดไป และในวันเดียวกันโจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีเมษายน 2541 มียอดซื้อที่แจ้งไว้ขาดจำนวน 408,538 บาท คิดเป็นภาษีซื้อจำนวน 40,853.80 บาท เมื่อรวมภาษีซื้อที่ยื่นไว้แล้วจะมีภาษีซื้อของเดือนภาษีเมษายน 2541 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 49,407.97 บาท ต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีพฤษภาคม 2541 โจทก์จึงนำภาษีที่ชำระเกินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายของเดือนภาษีพฤษภาคม 2541 คงเหลือภาษีที่โจทก์ต้องชำระจำนวน 293,330.49 บาท การยื่นแบบแสดงรายการภาษีของโจทก์ จึงถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งประเมินภาษีจำนวน 40,853.94 บาท เพราะภาษีจำนวนดังกล่าวมาจากภาษีซื้อที่โจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แม้โจทก์จะยื่นแบบสองครั้งแต่ก็ยื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หาใช่เป็นการยื่นแบบเพิ่มเติมในยอดซื้อที่แจ้งไว้ขาดภายหลังครบกำหนดระยะเวลายื่นแบบไม่ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจพบว่า วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 โจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีเมษายน 2541 สองครั้ง โดยในการยื่นแบบครั้งแรก (ยื่นปกติ) โจทก์มีภาษีซื้อที่ชำระเกินจำนวน 8,554.17 บาท ในการยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม โจทก์แสดงรายการภาษีซื้อที่ชำระเกินจำนวน 40,853.80 บาท และมีภาษีที่ชำระเกินยกมา 8,554.17 บาท รวมภาษีที่ชำระเกิน 49,407,97 บาท โจทก์นำไปเครดิตภาษีในการยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีพฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิที่จะขอคืนภาษีที่ชำระเกินจำนวน 40,853.80 บาท ที่โจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมเป็นเงินสดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 84 หรือยื่นคำร้องขอคืนตามมาตรา 84/1 (1) โจทก์ไม่มีสิทธินำภาษีจำนวนดังกล่าวไปเครดิตภาษีในเดือนถัดไป เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ที่ยื่นเพิ่มเติมเป็นการยื่นแบบแสดงเฉพาะรายการที่แจ้งไว้ขาดในแบบ ภ.พ.30 ที่ยื่นตามปกติตามมาตรา 83/4 และมาตรา 84 เมื่อโจทก์มิได้ขอคืนภาษีขณะยื่นแบบโจทก์ต้องปฏิบัติตามมาตรา 84/1 โดยยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในสามปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบ โจทก์มีสิทธิเครดิตภาษีตามมาตรา 84 เฉพาะภาษีซื้อที่ชำระเกินตามแบบ ภ.พ.30 ฉบับที่ยื่นปกติจำนวน 8,554.17 บาท การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 3013280/5/101387 ลงวันที่ 1 (ที่ถูกวันที่ 11) มกราคม 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3 (อธ.4)/207/2545 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 (ที่ถูก 1 พฤษภาคม 2545) ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษี และกำหนดว่า การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีสำหรับเดือนภาษีใดให้ยื่นภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป และมาตรา 83/4 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าการคลาดเคลื่อนนั้นจะเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับชำระภาษี ถ้ามีให้ถูกต้องครบถ้วน ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 ของเดือนภาษีเมษายน 2541 สองครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 มีภาษีซื้อที่ชำระเกินเป็นจำนวน 8,554.17 บาท ซึ่งโจทก์ขอนำภาษีซื้อที่ชำระเกินไปนี้ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป ต่อมาโจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 ครั้งที่สองในวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 โดยแจ้งยอดภาษีซื้อเกินเป็นจำนวน 40,853.80 บาท กรณีของโจทก์ถือได้ว่า การยื่นแบบ ภ.พ.30 ครั้งที่สอง แม้จะเป็นการยื่นภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปก็ตาม ก็เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม เนื่องจากโจทก์ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าการคลาดเคลื่อนนั้นจะเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/4 ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 84 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมเพราะการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 83/4 ก็ให้มีสิทธิขอคืนภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีจากการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมนั้น ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงขอคืนภาษีทีเหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีจากการคำรวณภาษีตามมาตรา 82/3 เท่านั้น ไม่มีสิทธินำไปเป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไป การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์