คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระแก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 เช่นเดียวกับการพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในคดีหมายเลขดำที่ 556/2547 สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 556/2547 อยู่ในระหว่างการพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องบริษัทนิวยอร์คเคหะ จำกัด ที่ 1 นายชาญชัย พันธาภิรัตน์ ที่ 2 นางอุษณีย์หรือปติมา พันธาภิรัตน์ ที่ 3 นายนพพร หรือจักรกฤช ศิริชีวกุล ที่ 4 หม่อมราชวงศ์ปัณฑิตย์ จักรพันธุ์ ที่ 5 จำเลย ต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งห้าเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามคดีหมายเลขดำที่ 556/2547 ขณะยื่นคำฟ้องคดีนี้ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 556/2547 ของศาลล้มละลายกลางหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์คดีนี้จะเป็นบุคคลคนเดียวกับโจทก์ในคดีดังกล่าว แต่ลูกหนี้เป็นบุคคลคนละคนกัน มูลหนี้ทั้งสองคดีเป็นคนละมูลหนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน เห็นว่า การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่การฟ้องเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง” ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกับการพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในคดีหมายเลขดำที่ 556/2547 สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 556/2547 อยู่ในระหว่างการพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share