คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2721/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญากู้ยืมที่มีข้อความว่า “พระครู ก. ได้ยืมเงินสดเพื่อจะจ่ายค่าก่อสร้างวัดให้ลุล่วงไปด้วยดี….บาท กำหนดคืนให้หลังทอดกฐินวัดเรียบร้อยแล้ว” เป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อพระครู ก. ผู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิใช่สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
หนี้สินที่พระครู ก. ซึ่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสจัดจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เป็นหนี้ที่ใช้ในการก่อสร้างกุฎิอันเป็นศาสนสมบัติของวัดจำเลย มิใช่เป็นการกู้ยืมเพื่อตนเอง พระครู ก. กระทำการดังกล่าวแทนจำเลยได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 และ 39 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 อีกทั้งเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบเงินให้พระครู ก. ซึ่งกระทำแทนจำเลยไปแล้ว สัยญากู้ย่อมบริบูรณ์ การที่จะต้องให้ไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บรักษาเงินหรือต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามกฎกระทรวงข้อ 6 ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ไม่เกี่ยวกับความบริบูรณ์ของสัญญากู้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 จำเลยโดยพระครูเกษมจิตตาภรณ์ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาสและเป็นตัวแทนจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 300,000 บาท และในวันที่ 20 มิถุนายน 2540 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์อีกจำนวน 200,000 บาท เพื่อก่อสร้างกุฏิโดยตกลงจะชำระหนี้คืนหลังจากทอดกฐินประจำปี 2540 แต่จำเลยไม่ยอมชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2540 ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 524,685 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในช่วงที่พระครูเกษมจิตตาภรณ์ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดจำเลย พระครูเกษมจิตตาภรณ์จะไปกู้ยืมเงินโจทก์เป็นค่าก่อสร้างถึง 2 ครั้ง เป็นเงิน 500,000 บาท หรือไม่จำเลยไม่ทราบหลังจากพระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้ลาออกจากตำแหน่งไม่เคยแสดงหลักฐานบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือนโดยใช้แบบของกรมการศาสนาเสนอต่อเจ้าคณะตำบลทั้งพระครูเกษมจิตตาภรณ์ไม่เคยให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด เนื่องจากพระครูเกษมจิตตาภรณ์มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดแต่อย่างใด จึงเป็นการขัดต่อกฎกระทรวง ข้อ 6 ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และถึงแม้จะไม่มีไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ก็เป็นหน้าที่ของพระครูเกษมจิตตาภรณ์ต้องทำบัญชีทั้งหลายให้ปรากฏรายรับรายจ่ายของวัด หากว่าพระครูเกษมจิตตาภรณ์เป็นตัวแทนของจำเลยจริงต้องถือว่าเงินที่กู้ยืมตามฟ้องเป็นเงินของวัดจำเลย ซึ่งวัดจะเก็บรักษาเงินได้เพียง 3,000 บาท ในส่วนที่เกิน 3,000 บาท ต้องเก็บรักษาโดยฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือธนาคารหรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ และให้ฝากในนามของวัด แต่ไม่ปรากฏว่าพระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการขัดต่อกฎกระทรวงข้อ 5 ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 การกระทำของพระครูเกษมจิตตาภรณ์จึงเป็นการกระทำส่วนตัวไม่มีผลผูกพันจำเลย ทั้งในเอกสารการกู้ยืมเงินทั้งสองฉบับก็ไม่ปรากฏว่าพระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้กระทำในนามของวัดจำเลยแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 24,685 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทวัดในพุทธศาสนาจัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเอกสารหมาย จ.8 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 พระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยตามคำสั่งเจ้าคณะตำบลบ้านหม้อ เอกสารหมาย จ.9 ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 พระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.10 โจทก์เคยร้องเรียนไปยังอำเภอพรหมบุรีว่า ในช่วงที่พระครูเกษมจิตตาภรณ์รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดของจำเลยอยู่นั้น พระครูเกษมจิตตาภรณ์กู้ยืมเงินโจทก์เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าก่อสร้างกุฏิของจำเลย โดยมีการกู้ยืมเงินรวม 2 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า พระครูจิตตาภรณ์กู้ยืมเงินไปจากโจทก์และเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ และนางพรทิพย์ พรเจริญ เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์รู้จักกับพระครูจิตตาภรณ์ เนื่องจากโจทก์มาเอายารักษาโรค ซึ่งขณะนั้นวัดจำเลยกำลังก่อสร้างกุฏิพระอยู่ พระครูเกษมจิตตาภรณ์บอกแก่โจทก์ว่าเจ้าหนี้กำลังมาทวงหนี้ค่าไม้ก่อสร้างกุฏิ จึงต้องขอยืมเงินโจทก์ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้โดยพระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2540 เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งการกู้ยืมเงินทั้งสองครั้ง พระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ให้ไว้แก่โจทก์ โดยเอกสารดังกล่าวมีนางพรทิพย์ และนางอำนวย ศรีดาวเดือน ภริยาโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยานซึ่งพระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ทั้งสองฉบับนั้นมีข้อความในลักษณะเดียวกันว่า “พระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้ยืมเงินสดเพื่อจะจ่ายค่าก่อสร้างวัดให้ลุล่วงไปด้วยดี….บาท กำหนดคืนให้หลังทอดกฐินวัดเรียบร้อยแล้ว” โดยเอกสารทั้งสองฉบับเห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อพระครูเกษมจิตตาภรณ์ ผู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น หาใช่สัญญากู้ยืมเงินไม่ ดังนั้น เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่า ลายมือชื่อในช่องผู้กู้มิใช่ลายมือชื่อพระครูเกษมจิตตาภรณ์หรือมีความไม่ชอบของเอกสารดังกล่าวแต่ประการใดจึงต้องรับฟังพยานหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ว่า พระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้กู้ยืมเงินจำนวน 500,000 บาท ไปจากโจทก์จริง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปโดยมิต้องย้อนสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งตามปัญหาดังกล่าว โจทก์มีนายประจวบ แสงสุวรรณ ปลัดอำเภอพรหมบุรีหัวหน้าฝ่ายปกครองและพัฒนาเบิกความเป็นพยานโจทก์ได้ความว่า หลังจากโจทก์ร้องเรียนเรื่องที่จำเลยโดยพระครูเกษมจิตตาภรณ์รักษาการเจ้าอาวาสกู้ยืมเงินโจทก์ต่ออำเภอพรหมบุรี ทางอำเภอจึงแต่งตั้งพยานเป็นประธานกรรมการในการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยมีกรรมการมาจากตัวแทนศึกษาธิการอำเภอ ตัวแทนจำเลย และนางพรทิพย์ซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหลักฐานการกู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 คณะกรรมการเรียกฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้มาสอบสวนและไปตรวจดูสถานที่ก่อสร้างของจำเลย ผลการสอบสวนได้ความว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง โดยมีการทำรายงานผลการตรวจสอบหนี้สินในการก่อสร้างกุฏิของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 แล้วรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีทราบตามเอกสารหมาย จ.4 และมีบันทึกข้อตกลงของคณะกรรมการวัดจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 ในเรื่องเบิกถอนเงินจำนวน 500,000 บาท ใช้หนี้คืนโจทก์ เห็นว่า ตามรายงานผลการตรวจสอบหนี้สินในการก่อสร้างกุฏิของจำเลยเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งมีกรรมการที่มาจากตัวแทนอำเภอพรหมบุรีและตัวแทนเจ้าคณะตำบลบ้านหม้อสรุปผลการตรวจสอบว่า หนี้สินที่พระครูเกษมจิตตาภรณ์กู้ยืมเงินโจทก์เป็นหนี้ที่ใช้ในการก่อสร้างกุฏีอันเป็นศาสนสมบัติของจำเลย หาใช่เป็นการกู้ยืมเพื่อตนเองไม่ซึ่งพระครูเกษมจิตตาภรณ์กระทำการดังกล่าวแทนจำเลยได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 และ 39 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 อีกทั้งเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบเงินให้พระครูเกษมจิตตาภรณ์ซึ่งกระทำแทนจำเลยรับมอบจำนวนเงินที่กู้ไปแล้ว สัญญากู้ย่อมบริบูรณ์ การที่จะต้องให้ไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บรักษาเงินหรือต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามกฎกระทรวงข้อ 6 ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 นั้น ไม่เกี่ยวกับความบริบูรณ์ของสัญญากู้แต่ประการใด ดังนั้น เมื่อพระครูเกษมจิตตาภรณ์เป็นผู้แทนของจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์มาใช้ในกิจการอันเป็นศาสนสมบัติของจำเลยเช่นนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share