คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1381/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้มีข้อความว่า ถ้าต่อไปผู้ให้กู้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ตามแต่จะเห็นสมควร โดยเพียงแต่แจ้งให้ผู้ก้ทราบเท่านั้น ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ตามที่แจ้งไปนั้นทุกประการโดยไม่โต้แย้งใด ๆทั้งสิ้น ดังนี้ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้โจทก์ผู้ให้กู้ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นได้ และโจทก์มีหนังสือแจ้งการขอเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยผู้กู้ทราบแล้ว อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขอเพิ่มขึ้นไปนั้นไม่เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเงื่อนไขข้อสัญญาดังกล่าว โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 อีกแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ และนายสมัยเป็นผู้แทนได้กู้เงินโจทก์ไปโดยมีข้อตกลงยอมให้โจทก์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และจำเลยที่ ๑ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมีโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างหลายแปลงไว้เป็นประกัน ต่อมาได้มีการเพิ่มวงเงินจำนองและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและจำเลยที่ ๒ ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน๗๖,๙๓๒,๙๑๖.๕๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ในต้นเงิน ๕๑,๗๑๘,๗๘๔ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า มิได้ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ หากแต่เป็นการคิดบัญชีในมูลหนี้เดิมระหว่างบริษัทชวริน จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเศรษฐสัมพันธ์โยธาและจำเลยที่ ๑กับโจทก์ โดยได้ตกลงแปลงหนี้มาเป็นสัญญากู้กันใหม่ แต่โจทก์คิดยอดหนี้คลาดเคลื่อน โดยจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ตกลงด้วย และโจทก์ยังตกลงให้จำเลยที่ ๑ กู้เพิ่มอีก ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๑ยังมิได้รับเงินมา สัญญากู้พิพาทจึงไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับสัญญาจำนองซึ่งได้กระทำไปโดยพลการของผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ มิได้ตกลงยินยอมด้วยในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่ามิได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ ๒ สัญญาค้ำประกันตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๗๖,๙๓๒,๙๑๖.๕๗ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงิน ๕๑,๗๑๘,๗๘๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรก ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกู้เงินรายนี้เป็นการรวมหนี้เดิมของบริษัทชวริน จำกัด ห้างหุ้นส่วน-จำกัดเศรษฐสัมพันธ์โยธา และหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหนี้โจทก์เข้าด้วยกันมาทำเป็นสัญญากู้ใหม่โดยจำเลยที่ ๒ และนายสมัย ศรีประศาสธน์ ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ ๑ ได้ลงชื่อในสัญญากู้ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัวได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันสัญญากู้ดังกล่าวด้วย อีกทั้งจำเลยที่ ๒ และนายสมัยยังได้ร่วมกันลงชื่อและประทับตราจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเงินตามสัญญากู้จำนวน ๕๑,๗๑๘,๗๘๔ บาท ไปแล้วด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้รับรองยอดหนี้ของบริษัทชวริน จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเศรษฐสัมพันธ์โยธา และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหนี้โจทก์รวมกันแล้วเป็นจำนวน ๕๑,๗๑๘,๗๘๔ บาท จึงถูกต้องแล้ว สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจึงมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาและจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ ขอเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ๒ ครั้ง ครั้งแรกขอเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ ครั้งที่สองขอเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๒และอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอเพิ่มทั้งสองครั้งนั้น ไม่เกินกำหนดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งแต่เพียงว่าโจทก์เพียงแต่มีหนังสือแจ้งการขอขึ้นอัตราดอกเบี้ยมายังจำเลย แต่จำเลยมิได้ตกลงยินยอมด้วยโจทก์จึงไม่มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญากู้ ข้อ ๒ มีข้อความว่า”…และถ้าต่อไปผู้ให้กู้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ตามแต่จะเห็นสมควร โดยเพียงแต่แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ตามที่แจ้งไปนั้นทุกประการโดยไม่โต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น…” ดังนี้ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นได้ และโจทก์มีหนังสือแจ้งการขอเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทราบแล้วอีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขอเพิ่มขึ้นไปนั้นก็ไม่เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเงื่อนไขข้อสัญญาดังกล่าวโดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๑ อีกแต่อย่างใด
พิพากษายืน.

Share