แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คเพื่อชำระหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 3 จะมาโต้เพียงในชั้นฎีกาว่า มิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีกด้วย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
การที่จำเลยทั้งสามนำเงินตามจำนวนในเช็คพิพาทวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค โดยมิได้ชำระดอกเบี้ยแก่ผู้เสียหายหนี้ที่จำเลยทั้งสามออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นจึงยังไม่ได้รับชำระครบถ้วนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และมาตรา 214 จึงไม่มีผลให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะถือว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 และทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (3) ยังไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2544 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขานครนายก ฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2544 และวันที่ 5 ตุลาคม 2544 สั่งจ่ายเงิน 106,369 บาท และ 104,931 บาท ตามลำดับมอบให้แก่บริษัทไทยเน็ทเวิร์ค เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายอุปกรณ์เคเบิลทีวี ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 5,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงละ 1 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่ถูกเฉพาะมาตรา 29)
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า หนี้ตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการเท่านั้น จำเลยที่ 3 หาได้มีนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายที่จะต้องชำระหนี้แต่ประการใด จึงไม่อาจถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คเพื่อชำระหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 3 จะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่ามิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้นหาได้ไม่เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพแล้วทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีกด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งสามหนักเกินไปและขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นตามฎีกาของจำเลยทั้งสาม คำร้องจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 และรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 ได้ความว่า จำเลยทั้งสามได้วางเงินจำนวนตามเช็คพิพาทชำระหนี้แก่ผู้เสียหายและผู้เสียหายได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เสียหายเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวด้วย เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามนำเงินตามจำนวนในเช็คพิพาทวางต่อศาลชั้นต้นในคดีนี้เพื่อชำระหนี้เงินตามเช็ค โดยมิได้ชำระดอกเบี้ยแก่ผู้เสียหาย หนี้ที่จำเลยทั้งสามออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นจึงยังไม่ได้รับชำระครบถ้วนสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และมาตรา 214 จึงไม่มีผลให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแต่อย่างใด จะถือว่าคดีเลิกกัน ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 และทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3) ยังไม่ได้ แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้บรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำความผิด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามกระทงละ 3,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 6,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับจำเลยทั้งสามคนละ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.