คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3846/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 อันเป็นเวลาที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ การโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมต้องนำ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาใช้บังคับ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มิใช่บทบัญญัติของมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 41 มิได้กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหมือนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม หรือมาตรา 193/30 ใหม่ ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยต้องเริ่มนับอายุความขณะที่อาจบังคับสิทธินั้นได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม หรือมาตรา 193/12 ใหม่ คือนับแต่วันที่ 14 กันยายน 2524 อันเป็นวันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 2 กรกฎาคม 2539 จึงเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ
โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 7 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ชนิดสินค้าเครื่องฉีดพ่นที่ใช้กำลังเครื่องจักรและส่วนของเครื่องดังกล่าวซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2520 ตามทะเบียนเลขที่ 62856 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 6 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ชนิดสินค้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบฉีดน้ำ และเครื่องฉีดยาฆ่าแมลง (ที่มีมอเตอร์) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 ตามทะเบียนเลขที่ 76857 โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราเพชรที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 6 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรตามทะเบียนเลขที่ 76857 กับสินค้าท่อน้ำและสายยางมาตั้งแต่ปลายปี 2511 การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรกับสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงและเครื่องสูบน้ำตรงตามรูปเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าดังกล่าวและระบุชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ที่ตัวสินค้าให้เห็นได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะสินค้าของจำเลยที่ 1 ได้ระบุหมายเลข “76857” ซึ่งเป็นเลขทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปเพชรของจำเลยที่ 1 ไว้ที่ใต้รูปเครื่องหมายการค้าเพชรติดไว้ที่ตัวสินค้าด้วย จำเลยที่ 1 มิได้เอาชื่อบริษัทโจทก์มาติดไว้ที่ตัวสินค้าของจำเลยที่ 1 ทั้งมิได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้แต่อย่างใด พฤติการณ์และลักษณะการใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรของจำเลยที่ 1 กับสินค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการลวงขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นสินค้าของโจทก์อันจะเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรของโจทก์ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงที่มีมอเตอร์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเนื่องจากการลวงขายตามฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะจดทะเบียนยกเลิกการใช้เครื่องหมายการค้าและประกาศหนังสือพิมพ์แล้ว กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 119892 ทะเบียนเลขที่ 76857 ลงวันที่ 14 กันยายน 2524 และให้จำเลยทั้งสองโฆษณาการเพิกถอนตามคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 4 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เป็นเวลา 15 วัน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสอง เดือนละ 1,400,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป กับให้โจทก์ประกาศขอขมาต่อจำเลยทั้งสองและยืนยันความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย 2 ฉบับ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน
โจทก์ให้การ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราเพชร ที่มีอักษรจีน อ่านว่า จึ้งเจี๊ยะไป๊ และอักษรโรมัน คำว่า DIAMOND อ่านว่าไดมอนด์ แปลว่า เพชร อยู่ใต้รูปเพชร คือเครื่องหมายการค้า โดยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ไต้หวันเมื่อปี 2515 และได้จดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2520 ไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 เดิม ชนิดสินค้า เครื่องฉีดพ่นที่ใช้กำลังเครื่องจักรและส่วนของเครื่องดังกล่าวซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปเพชรอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมคือเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 เดิม ชนิดสินค้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบฉีดน้ำ และเครื่องฉีดยาฆ่าแมลง (ที่มีมอเตอร์) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2537 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้ เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นอันดับแรกว่า คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยทั้งสองผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ เห็นว่า เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 อันเป็นเวลาที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ การโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมต้องนำ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาใช้บังคับ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มิใช่บทบัญญัติของมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 41 มิได้กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหมือนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม หรือมาตรา 193/30 ใหม่ ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยต้องเริ่มนับอายุความขณะที่อาจบังคับสิทธินั้นได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม หรือมาตรา 193/12 ใหม่ คือนับแต่วันที่ 14 กันยายน 2524 อันเป็นวันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 2 กรกฎาคม 2539 จึงเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเดือนละ 500,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปหรือไม่ ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันว่า โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 7 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ชนิดสินค้า เครื่องฉีดพ่นที่ใช้กำลังเครื่องจักรและส่วนของเครื่องดังกล่าวซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2520 ตามทะเบียนเลขที่ 62856 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 6 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ชนิดสินค้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบฉีดน้ำ และเครื่องฉีดยาฆ่าแมลง (ที่มีมอเตอร์) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 ตามทะเบียนเลขที่ 76857 ดังนี้ โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราเพชรที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้ สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 6 ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งโจทก์ก็อ้างในคำฟ้องว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวกับสินค้าเครื่องฉีดยาฆ่าแมลงที่มีมอเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าในจำพวกที่ 6 เดิม มาก่อนจำเลยทั้งสองผลิตสินค้าเครื่องฉีดยาฆ่าแมลงที่มีมอเตอร์ การจำหน่ายสินค้าเครื่องฉีดยาฆ่าแมลงที่มีมอเตอร์ภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรของจำเลยที่ 1 ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ อันถือได้เท่ากับโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้ทำการลวงขายสินค้าอันเป็นการละเมิดและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ กรณีจึงมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองได้ทำการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือไม่ จากพยานหลักฐานมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรตามทะเบียนเลขที่ 76857 กับสินค้าท่อน้ำและสายยางมาตั้งแต่ปลายปี 2511 การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรกับสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงและเครื่องสูบน้ำตรงตามรูปเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าดังกล่าวและระบุชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ที่ตัวสินค้าให้เห็นได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะสินค้าของจำเลยที่ 1 ตามภาพถ่ายหมาย ล. 29 ภาพที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังได้ระบุเลขอารบิกหมายเลข “76857” ซึ่งเป็นเลขทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปเพชรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไว้ที่ใต้รูปเครื่องหมายการค้าเพชรติดไว้ที่ตัวสินค้าด้วย จำเลยที่ 1 มิได้เอาชื่อบริษัทโจทก์มาติดไว้ที่ตัวสินค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ทั้งมิได้นำเครื่องหมายการค้ารูปเพชรซึ่งมีอักษรจีน 3 ตัว โดยอักษรตัวกลางมีรูปเพชรอยู่ด้วยและคำว่า DIAMOND ใต้อักษรจีนดังกล่าวของโจทก์คือเครื่องหมายการค้า มาใช้แต่อย่างใด พฤติการณ์และลักษณะการใช้เครื่องหมายการค้ารูปเพชรของจำเลยที่ 1 กับสินค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการลวงขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นสินค้าของโจทก์อันจะเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรของโจทก์ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงที่มีมอเตอร์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเดือนละ 500,000 บาท เนื่องจากการลวงขายตามคำฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน 1,500 บาท แทนจำเลยทั้งสอง.

Share