คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและมีคำขอบังคับให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่าถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยสูญหายไม่ว่าโดยเหตุสุดวิสัยหรือโดยเหตุใด ๆ ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ดังนั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์พอถือได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายแล้ว เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก็ต้องใช้ราคารถยนต์นั้นให้แก่โจทก์แม้สัญญาเช่าซื้อจะระงับเพราะวัตถุแห่งสัญญาสูญหาย ความรับผิดของจำเลยที่ 1ก็ยังมีอยู่ตามสัญญา
โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ลงทุนซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อมาในราคา 300,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 111,215.02 บาท โจทก์ยังคงขาดทุนอีกเป็นเงิน 188,784.98 บาท จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเป็นเงิน188,784.98 บาท คือค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่รวมทั้งหนี้สินอื่นที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ดังที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้แก่โจทก์นั่นเองการที่ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์หรือไม่เพียงใดนั้นก็เป็นค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเช่นกัน ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นมานั้นถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าศาลฎีกาจึงวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ราคา 381,308.64 บาท ตกลงชำระงวดละเดือน เดือนละ 8,500 บาท รวม48 เดือน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์เพียง 111,215.02 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 15 ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามสัญญาข้อ 10 โจทก์บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืน โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการให้เช่ารถยนต์เดือนละ 6,000 บาท ถึงวันฟ้องรวม 14 เดือน เป็นเงิน84,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 270,093.62 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 84,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาประมาณ 400,000 บาท จำเลยที่ 1ชำระเงินดาวน์จำนวน 115,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อรวม 14 งวด เป็นเงิน 119,000บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2540 รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไปจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าขาดประโยชน์ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ค่าเสียหายไม่เกิน 30,000 บาท โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์จำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2539จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน 4 ฎ – 5731กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ราคา 381,308.64 บาท ตกลงผ่อนชำระ 48 งวด งวดละ8,500 บาท ภายในวันที่ 20 ของทุกเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 20 กรกฎาคม 2539 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 15 ประจำวันที่ 20 กันยายน 2540 เป็นต้นมา โจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2540 ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบโจทก์ พอถือได้ว่าโจทก์เรียกราคารถยนต์อันเนื่องมาจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ระบุว่าในระหว่างที่ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อยังไม่หมด หากรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดสูญหาย ผู้เช่าซื้อยังต้องรับผิดชดใช้ค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน แม้คำฟ้องของโจทก์จะเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันมิได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายก็ตาม พอถือได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบโจทก์ได้บรรยายและนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อโดยได้แนบสำเนาสัญญาเช่าซื้อมาท้ายคำฟ้องและอ้างส่งสัญญาเช่าซื้อต่อศาล และมีคำขอบังคับให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารถยนต์ ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 ระบุว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย สูญหายไม่ว่าโดยเหตุสุดวิสัยหรือโดยเหตุใด ๆ ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ดังนั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบโจทก์พอถือได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์จำนวน 100,000 บาท นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก็ต้องใช้ราคารถยนต์นั้นให้แก่โจทก์ แม้สัญญาเช่าซื้อจะระงับเพราะวัตถุแห่งสัญญาสูญหายความรับผิดของจำเลยที่ 1 ก็ยังมีอยู่ตามข้อสัญญา ประกอบกับเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถยนต์ 100,000 บาทแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ติดใจอุทธรณ์ คงมีแต่โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอค่าเสียหายราคารถยนต์เพิ่มขึ้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 188,784.98 บาทมิใช่ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์หรือไม่เพียงใดนั้นเป็นการกำหนดประเด็นนอกฟ้องอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ลงทุนซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อมาในราคา 300,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์บางส่วน เป็นเงิน 111,215.02 บาท โจทก์ยังคงขาดทุนอีกเป็นเงิน188,784.98 บาท จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเป็นเงิน 188,784.98บาท คือค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่รวมทั้งหนี้สินอื่นที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ดังที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้แก่โจทก์นั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์หรือไม่เพียงใดนั้นก็เป็นค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 เช่นกัน ศาลอุทธรณ์กำหนดประเด็นมานั้นถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้ราคารถยนต์ให้แก่โจทก์เพียงใด คดีนี้แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เนื่องจากเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายแล้วเพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายราคารถยนต์ควรเป็น 188,784.98 บาท เห็นว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินดาวน์จำนวน 115,000บาท และชำระเงินค่างวด 14 งวด จำนวน 111,215.02 บาท รวมเป็นเงิน 226,215.02บาท เมื่อนำมาหักออกจากราคารถยนต์ที่แท้จริง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดราคารถยนต์ส่วนที่ขาดให้เป็นจำนวน 100,000 บาท นั้นเหมาะสมเป็นธรรมแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำศาลชั้นต้น

Share