คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจและขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ โจทก์จึงไม่เป็นพ่อค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 (1) เดิม แต่ต่อมามาตรา 193/34 (1) ได้เปลี่ยนคำว่า “พ่อค้า” เป็น “ประกอบการค้า” ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้นโจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าตามมาตรา 193/34 (1) การที่โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเรียกเอาค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียจากจำเลย จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าการงานที่ได้ทำ ย่อมมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1)
โจทก์ฟ้องเรียกค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 และค่าบริการกำจัดน้ำเสียตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 ซึ่งขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่ตรวจชำระใหม่ยังไม่ได้ออกมาบังคับใช้ หากโจทก์ฟ้องคดีตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 (1) เดิม ไม่ถือว่าโจทก์เป็นพ่อค้า จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 165 (1) เดิม แต่มีอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม กรณีของปัญหาเช่นนี้มีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 15 บัญญัติให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้ ดังนั้น เมื่อกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม แตกต่างและมีระยะเวลายาวกว่ากำหนดอายุความ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 จึงต้องบังคับตามกำหนดอายุความ 10 ปี
สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทำสัญญาใช้ที่ดินกับโจทก์โดยตกลงยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์กำหนด แต่จำเลยค้างชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียอันเป็นการผิดสัญญา และขอให้บังคับจำเลยชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียพร้อมเงินเพิ่มที่ชำระหนี้ล่าช้า เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องมาว่าโจทก์ได้จัดการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการกำจัดน้ำเสียให้จำเลยแล้ว ก็หาทำให้คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา
จำเลยไม่ชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 และค่าบริการกำจัดน้ำเสียตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 ให้โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียรายเดือนตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤษภาคม 2535 อันเป็นเดือนสุดท้ายก่อนวันที่ 7 มิถุนายน 2535 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนเป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดจากการชำระหนี้ล่าช้าไว้ล่วงหน้าซึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับศาลชอบที่จะลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ศาลฎีกาจึงกำหนดให้โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่ค้างชำระในแต่ละเดือนนับจากวันสิ้นเดือนเป็นต้นไปถึงเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่ไม่ขาดอายุความเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2535 ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 7 วัน ศาลฎีกาให้งดเพิ่มดังกล่าวเสีย สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนั้น ในสัญญามิได้กำหนดอัตราไว้ แต่ค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียรวมทั้งเงินเพิ่มเป็นหนี้เงินซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง โดยไม่ถือว่าเป็นการเรียกดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ศาลฎีกาจึงให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
สัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมข้อ 10 ตกลงว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบริการในการบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมจากจำเลยได้เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ได้กำหนดว่าโจทก์ต้องมีหน้าที่ดูแลท่อระบายน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสียให้จำเลย การที่โจทก์ไม่ดูแลท่อระบายน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสีย ปล่อยให้น้ำท่วมขัง จำเลยสามารถดำเนินการตามสัญญาข้อ 16 โดยขอให้กรรมการโจทก์พิจารณาเรื่องดังกล่าวและถ้าหากจำเลยไม่พอใจการวินิจฉัย จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไปได้ เมื่อจำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ซื้อที่ดินในการนิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อ ของโจทก์และเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2527 จำเลยในฐานะผู้ใช้ที่ดินได้ทำสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อ กับโจทก์ โดยตกลงยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบริการบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรม ตามอัตรา กำหนดเวลาและหลักเกณฑ์ที่โจทก์ประกาศกำหนด หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระค่าบริการดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญา โดยค้างชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 เป็นเงิน 47,025 บาท และค้างชำระเงินเพิ่มเนื่องจากชำระค่าบำรุงรักษาดังกล่าวล่าช้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนเงินค้างชำระตามประกาศของโจทก์ คำนวณถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 เป็นเงิน 55,920.58 บาท ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 102,945.58 บาท นอกจากนี้จำเลยยังค้างชำระค่าบริการกำจัดน้ำเสียตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 เป็นเงิน 225,848.05 บาท และค้างชำระเงินเพิ่มเนื่องจากชำระค่าบริการดังกล่าวล่าช้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระตามประกาศของโจทก์ คำนวณถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 เป็นเงิน 259,691.68 บาท ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 485,539.73 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 588,485.30 บาท (ที่ถูก 588,485.31 บาท) โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระ จำเลยได้รับแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 588,485.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่ดูแลท่อระบายน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสียให้โรงงานจำเลย ปล่อยให้น้ำขัง ไม่มีการระบายน้ำ จำเลยไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน และสัญญาไม่มีข้อตกลงให้โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มได้ โจทก์คำนวณค่าบำรุงรักษาและบริการกำจัดน้ำเสียตามฟ้องไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดเวลาดังกล่าว และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินเพิ่มเพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินในการนิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อของโจทก์ และเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2527 จำเลยได้ทำสัญญาการใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อกับโจทก์ตามสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมเอกสารหมาย จ.4 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมขึ้น เรียกว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า กนอ. และให้เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) การจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม หรือเพื่อดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับ กนอ. (2) ปรับปรุงที่ดินตาม (1) เพื่อให้บริการตลอดจนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกและผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออก เช่นจัดให้มีถนน ท่อระบายน้ำ โรงบำบัดน้ำเสีย ไฟฟ้า ประปาและโทรคมนาคมเป็นต้นไป (3) การให้เช่า ให้เช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์แก่กิจการของนิคมอุตสาหกรรมโดยตรง (4) การดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการอื่นที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของ กนอ. (5) การร่วมดำเนินงานกับบุคคลอื่นตามวัตถุประสงค์ใน (1) (2) หรือ (3) รวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด……” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจและขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ โจทก์ไม่เป็นพ่อค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) เดิม ซึ่งต่อมาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ได้เปลี่ยนคำว่า “พ่อค้า” เป็น “ประกอบการค้า” ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น ดังนั้นโจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกเอาค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสีย จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าการงานที่ได้ทำ ย่อมมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีการฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 และค่าบริการกำจัดน้ำเสียตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 ซึ่งขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ยังไม่ได้ออกมาบังคับใช้ หากโจทก์จะฟ้องคดีตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) เดิม ไม่ถือว่าโจทก์เป็นพ่อค้า จึงไม่อยู่ในบังคับต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามบทบัญญัติมาตรา 165 (1) เดิม แต่โจทก์อาจฟ้องคดีได้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) ซึ่งในกรณีเช่นนี้มีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 15 บัญญัติว่า “บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์… ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 8 มิถุนายน 2535) หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัตินี้แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม ให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ” ดังนั้น เมื่อกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม แตกต่างและมีระยะเวลายาวกว่ากำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้ต้องบังคับตามกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ใช้บังคับ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกของเดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 และค่าบริการกำจัดน้ำเสียของเดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2535 จึงไม่ขาดอายุความ คงขาดอายุความเฉพาะสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง มีปัญหาที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ซึ่งปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซื้อที่ดินในการนิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อของโจทก์และเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2527 จำเลยได้ทำสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อกับโจทก์โดยตรง ยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบริการบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมตามอัตรา กำหนดเวลาและหลักเกณฑ์ที่โจทก์ประกาศกำหนด ภายหลังทำสัญญาจำเลยค้างชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 เป็นเงิน 47,025 บาท และค้างชำระเงินเพิ่มเนื่องจากชำระค่าบำรุงรักษาดังกล่าวล่าช้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน คำนวณถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 เป็นเงิน 55,920.58 บาท ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 102,945.58 บาท นอกจากนี้จำเลยยังค้างชำระค่าบริการกำจัดน้ำเสียตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 เป็นเงิน 225,848.05 บาท และค้างชำระเงินเพิ่มเนื่องจากชำระค่าบำรุงรักษาดังกล่าวล่าช้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน คำนวณถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 เป็นเงิน 259,691.68 บาท ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 485,539.73 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 588,485.31 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เห็นว่า สภาพแห่งข้อหาของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทำสัญญาใช้ที่ดินกับโจทก์โดยตกลงยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์กำหนด แต่จำเลยค้างชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการจำกัดน้ำเสียอันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญา และขอให้บังคับจำเลยชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียพร้อมเงินเพิ่มที่ชำระหนี้ล่าช้า คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องมาว่าโจทก์ได้จัดการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการกำจัดน้ำเสียให้จำเลยในคำฟ้อง ก็หาทำให้คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าบริการกำจัดน้ำเสีย เงินเพิ่มและดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทำสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อกับโจทก์ตามสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมเอกสารหมาย จ.4 และได้ใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวของโจทก์เพื่อสร้างโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญา ในสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 10 ตกลงกันว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบริการในการบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อ ตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่โจทก์ประกาศกำหนดซึ่งโจทก์ได้ประกาศจัดเก็บค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในอัตราไร่ละ 352 บาท ต่อเดือน จำเลยต้องชำระภายในวันที่ 5 ของเดือน หากชำระล่าช้าจำเลยต้องชำระเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ตามสำเนาประกาศนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ 13/2531 เอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2531 เป็นต้นไป ต่อมาโจทก์ได้มีประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราใหม่โดยคิดไร่ละ 300 บาท ต่อเดือนตามสำเนาประกาศนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ 14/2532 เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2532 เป็นต้นไป นอกจากนี้โจทก์ยังได้ประกาศจัดเก็บค่าบริการกำจัดน้ำเสียโดยนักวิทยาศาสตร์ของโจทก์จะเป็นผู้คำนวณค่าของเสียของแต่ละโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียออกมาเป็นรายเดือน หากจำเลยชำระล่าช้าต้องชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนให้โจทก์ตามสำเนาประกาศการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ 15/2531 เอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2531 เป็นต้นไป ประกาศทั้งสามฉบับโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบและปิดประกาศแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 และค่าบริการกำจัดน้ำเสียตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 ให้โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียรายเดือนให้โจทก์พร้อมเงินเพิ่มที่ชำระหนี้ล่าช้า โดยค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสีย จำเลยต้องรับผิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤษภาคม 2535 อันเป็นเดือนสุดท้ายก่อนวันที่ 7 มิถุนายน 2535 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนเงินเพิ่มที่โจทก์คิดเอาจากจำเลยในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนั้นเป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดจากการชำระหนี้ล่าช้าไว้ล่วงหน้าซึ่งมีลักษณะเบี้ยปรับเมื่อสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงตามจำนวนที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดเงินเพิ่มให้โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่ค้างชำระในแต่ละเดือนนับจากวันสิ้นเดือนเป็นต้นไปถึงเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่ไม่ขาดอายุความเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2535 ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 7 วัน จึงให้งดเงินเพิ่มดังกล่าวเสีย สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนั้น ในสัญญามิได้กำหนดอัตราเอาไว้ แต่ค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียรวมทั้งเงินเพิ่มที่ชำระหนี้ล่าช้าเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่งซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โดยไม่ถือว่าเป็นการเรียกดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย จึงกำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยไม่ดูแลท่อระบายน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสีย ปล่อยให้น้ำท่วมขังตามภาพถ่ายหมาย ล.1 และ ล.8 นั้น เห็นว่า ตามสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 10 ตกลงกันว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบริการในการบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมเอาจากจำเลยได้เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้กำหนดว่าโจทก์ต้องมีหน้าที่ดูแลท่อระบายน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสียให้จำเลย หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่จำเลยนำสืบ จำเลยก็ไม่อาจบอกปัดความรับผิดชอบได้ แต่จำเลยสามารถดำเนินการตามสัญญาข้อ 16 โดยขอให้กรรมการโจทก์พิจารณาเรื่องดังกล่าว และถ้าหากจำเลยไม่พอใจการวินิจฉัยของกรรมการโจทก์ จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการใดๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามข้อกำหนดในสัญญาได้”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินเฉพาะค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียของงวดประจำเดือนเมษายน 2531 ถึงงวดประจำเดือนพฤษภาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากยอดหนี้ในแต่ละเดือน นับจากวันสิ้นเดือนในแต่ละเดือนถึงเดือนพฤษภาคม 2535 ให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินซึ่งเป็นค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าบริการกำจัดน้ำเสียและเงินเพิ่มที่คำนวณรวมกันได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2535 โดยให้นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

Share