คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขอให้โจทก์ออกหนังสือประกันการปฏิบัติตามสัญญาของกิจการร่วมค้า อ. ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยจำเลยยอมประกันช่วงผูกพันตนด้วยเงื่อนไขทำนองเดียวกันต่อโจทก์ (Instructions and Counter Guarantee) โจทก์ออกหนังสือประกันการปฏิบัติตามสัญญา (Letter of Guarantee, Performance Security) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าได้บอกเลิกสัญญากับกิจการร่วมค้า อ. เพราะเหตุผิดสัญญา และขอให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือประกันดังกล่าว การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบและเรียกให้จำเลยชำระเงินจึงเป็นการปฏิบัติไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยรับทราบแล้วแจ้งกลับมายังโจทก์เพียงว่า ศาลในประเทศอิตาลีมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ และกิจการร่วมค้า อ. แจ้งจำเลยว่าจะเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ร่วมเจรจาระงับข้อพิพาทด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ขอให้โจทก์หยุดชำระเงินไว้ก่อน นั้น ทั้งสองเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุผลที่จะปลดเปลื้องความรับผิดของโจทก์ที่มีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือปลดเปลื้องจำเลยจากความรับผิดที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาประกันช่วงแต่อย่างใด เพราะเป็นข้ออ้างที่ขัดกับข้อความรับผิดตามหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงนั้นเอง การที่โจทก์ไม่พิจารณาคำทักท้วงดังกล่าวหรือสืบหาข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์ชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อถูกเรียกให้ชำระตามเงื่อนไขและภาระผูกพันในหนังสือประกันย่อมเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันช่วง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
โจทก์ทวงถามเป็นหนังสือไปยังจำเลยโดยการส่งโทรพิมพ์ (First Written Demand by Tested Telex) ตรงตามเงื่อนไขในสัญญาประกันช่วงแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่ระบุทันที เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าคู่สัญญาแสดงเจตนากำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิกำหนดอัตราดอกเบี้ยฝ่ายเดียว คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศอิตาลีทำคำเสนอทางโทรพิมพ์มายังโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย โจทก์ไม่ได้ตกลงรับว่าจะออกหนังสือประกันให้ตามที่จำเลยเสนอมาในทันที แต่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในคำสนองว่าโจทก์จะออกหนังสือประกันให้ก็ต่อเมื่อจำเลยยอมประกันช่วงแก่โจทก์ว่าจำเลยจะชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ชำระให้แก่ผู้รับประโยชน์คืนให้แก่โจทก์ เมื่อคำสนองดังกล่าวมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย จึงถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งมีผลเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 359 วรรคสอง แม้จำเลยได้รับโทรพิมพ์ดังกล่าวแล้ว สัญญาขอให้ออกหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลยก็ยังหาได้เกิดขึ้นที่ประเทศอิตาลีดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยมีโทรพิมพ์ ตอบกลับมายังโจทก์ว่าจำเลยให้อำนาจโจทก์ระบุข้อความรับผิดในการประกันช่วงดังกล่าวได้ โดยมิได้มีข้อความเพิ่มเติมหรือเงื่อนไขอย่างใดอีก โทรพิมพ์ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นคำสนองของจำเลย ดังนี้ สัญญาขอให้ออกหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลยย่อมเกิดขึ้นทันทีที่โจทก์ได้รับโทรพิมพ์ดังกล่าวที่ประเทศไทยตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคแรกจึงต้องใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาเกิดคือกฎหมายไทยบังคับและต้องฟ้องคดีต่อศาลไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 88,244,307.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีจากต้นเงิน 65,840,499.52 บาท และจำนวน 5,492,837.48 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีจากต้นเงิน 4,098,294.52 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลย 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามเงื่อนไขและภาระผูกพันในหนังสือประกันโดยชอบและโดยสุจริตหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า เหตุที่โจทก์ชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้บอกเลิกสัญญากับกิจการร่วมค้าอีดรีโก เอสพีเอ และขอให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือประกันการปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ในฐานะผู้ออกหนังสือประกันจึงต้องรับผิดชอบตามภาระในสัญญาประกัน ซึ่งก่อนที่โจทก์จะชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โจทก์ได้มีโทรพิมพ์แจ้งไปยังจำเลยเกี่ยวกับการจะชำระเงินดังกล่าวแล้วจำเลยแจ้งกลับมายังโจทก์ว่าจำเลยไม่สามารถชำระเงินให้แก่โจทก์ได้เพราะศาลในประเทศอิตาลีมีคำสั่งให้จำเลยงดชำระเงินแก่โจทก์ไว้ก่อนโจทก์จึงได้ชำระเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปโดยชอบและโดยสุจริตนั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาประกันการปฏิบัติตามสัญญา 8 ฉบับ โจทก์มีความผูกพันที่จะต้องชำระเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยเคร่งครัดเมื่อถูกทวงถามโดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกิจการร่วมค้าอีดรีโก เอสพีเอ ขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้ ซึ่งข้อความในหนังสือประกันดังกล่าวเป็นไปตามที่โจทก์จำเลยตกลงกัน จำเลยจึงย่อมทราบดีว่าเมื่อโจทก์ออกหนังสือประกันที่มีข้อความเช่นนั้นให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้วโจทก์จะมีความรับผิดต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด เพราะจำเลยเป็นผู้ที่กำหนดเงื่อนไขความรับผิดเคร่งครัดเช่นนั้นให้โจทก์กระทำตาม ทั้งนี้จำเลยเองก็ตกลงผูกพันตนโดยเคร่งครัดในการประกันช่วงด้วยเงื่อนไขทำนองเดียวกันตอบแทนโจทก์ โจทก์ชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปหลังจากได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่ากิจการร่วมค้าอีดรีโกเอสพีเอ ผิดสัญญาและถูกบอกเลิกสัญญาแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ตามความผูกพันในหนังสือประกันนั้นเอง การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบและเรียกให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประกันช่วงก็เป็นการปฏิบัติไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยรับทราบแล้วแจ้งกลับมายังโจทก์เพียงว่า ศาลในประเทศอิตาลีมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ และกิจการร่วมค้าอีดรีโก เอสพีเอ แจ้งจำเลยว่าจะเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ร่วมเจรจาระงับข้อพิพาทด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการขอให้โจทก์หยุดชำระเงินไว้ก่อนนั้น เหตุผลที่อ้างดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างเหตุขัดข้องของจำเลยเองประการหนึ่ง กับเหตุขัดข้องตามสัญญากำจัดมลภาวะทางอากาศระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับการร่วมค้าอีดรีโก เอสพีเอ อีกประการหนึ่ง ซึ่งทั้งสองเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุผลที่จะปลดเปลื้องความรับผิดของโจทก์ที่มีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามหนังสือประกันการปฏิบัติตามสัญญา หรือปลดเปลื้องจำเลยจากความรับผิดของจำเลยที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาประกันช่วงแต่อย่างใด เพราะเป็นข้ออ้างที่ขัดกับข้อความรับผิดตามหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงที่ว่า “…โจทก์ยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการค้ำประกันเท่านั้น ในการชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทันทีที่ถูกเรียกให้ชำระโดยจะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชำระหนี้ก่อน…” เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวผูกพันโจทก์ต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด เงื่อนไขทำนองเดียวกันนั้นก็ย่อมผูกพันจำเลยต่อโจทก์อย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน และเนื้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์ที่จะแยกความรับผิดของหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงออกจากความรับผิดสัญญาประธานหรือสัญญาอื่น ๆ โดยให้พิเคราะห์แต่การปฏิบัติตามเงื่อนไขเท่าที่ปรากฏในหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงเท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าความจริงจะเป็นไปตามเหตุผลที่จำเลยแจ้งมาหรือไม่ ก็ไม่ทำให้โจทก์หลุดพ้นจากหนี้ที่มีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามหนังสือประกัน ทั้งไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันช่วงได้ การที่โจทก์ไม่พิจารณาคำทักท้วงดังกล่าวหรือสืบหาข้อเท็จจริงตามเหตุผลที่จำเลยแจ้งมาจึงไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดโจทก์ชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อถูกเรียกร้องให้ชำระตามเงื่อนไขและภาระผูกพันในหนังสือประกันย่อมเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์มีโทรพิมพ์เรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันช่วง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือทวงถามมาถึงโจทก์เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2540 โจทก์แจ้งเรื่องดังกล่าวทางโทรพิมพ์เรียกให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประกันช่วง ถือว่าโจทก์ได้ทวงถามเป็นหนังสือไปยังจำเลยโดยการส่งทางโทรพิมพ์ (First Written Demand by Tested Telex) ตรงตามเงื่อนไขในสัญญาประกันช่วงแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่ชำระเงินตามจำนวนที่ระบุทันที เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัด แต่ที่โจทก์อ้างว่า ขณะที่โจทก์ชำระเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโจทก์ประกาศอันตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลย จำเลยมิได้โต้แย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปนั้น เห็นว่า ตามสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลยไม่ปรากฏว่ามีการตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้แต่อย่างใด ทั้งภายหลังเมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามแจ้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไปยังจำเลย แม้จำเลยไม่โต้แย้งแต่มิได้ตอบรับหรือแสดงเจตนากลับมายังโจทก์ว่ายินยอมให้โจทก์ใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าคู่สัญญาได้แสดงเจตนากำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิกำหนดอัตราดอกเบี้ยฝ่ายเดียว โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเท่านั้น
จำเลยร้องขอให้โจทก์ออกหนังสือประกันการปฏิบัติตามสัญญาหรือ Letter of Guarantee ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามข้อความที่จำเลยระบุในโทรพิมพ์และให้โจทก์แจ้งยืนยันไปยังจำเลยถึงการออกหนังสือประกันดังกล่าว ในโทรพิมพ์ฉบับนี้คงมีแต่ข้อความที่จำเลยขอให้โจทก์ออกหนังสือประกัน (Instructions) แต่ไม่มีข้อความที่จำเลยเสนอตอบแทนโจทก์ในการที่โจทก์ออกหนังสือประกันนั้นแต่อย่างใด โทรพิมพ์แผ่นที่ 2 มีข้อความว่า จำเลยให้อำนาจโจทก์เพิ่มข้อความสัญญาประกันช่วง (Counter Guarantee) ดังที่ระบุในโทรพิมพ์นี้เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ออกหนังสือประกันให้ และโทรพิมพ์แผ่นที่ 3 จำเลยเพิ่มข้อตกลงตามที่ระบุในโทรพิมพ์ลงในสัญญาประกันช่วงต่อไปว่า ระยะเวลาการประกันช่วงจะขยายออกไปโดยอัตโนมัติเมื่อจำเลยได้รับโทรพิมพ์ที่ทดสอบแล้วจากโจทก์ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นคำสนองจากโจทก์นั้น ปรากฏว่าเป็นโทรพิมพ์ที่โจทก์ตอบกลับไปยังจำเลยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 สรุปใจความได้ว่า โจทก์ขอให้จำเลยเพิ่มข้อความลงในสัญญาประกันช่วงว่า เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ออกหนังสือประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์จำเลยยอมผูกพันที่จะให้ค่าชดเชยแก่โจทก์ และให้คำมั่นโดยเพิกถอนไม่ได้ว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์ในโอกาสแรกเมื่อได้รับหนังสือทวงถาม (First Written Demand) โดยทางโทรพิมพ์ที่ทดสอบแล้ว (By Tested Telex) ระบุว่าโจทก์ถูกเรียกให้ชำระหนี้ตามหนังสือประกันของโจทก์เป็นจำนวนเงินที่ผู้รับประโยชน์เรียกร้องตามจริง หากแต่ไม่เกินจำนวน… ดังนี้ ข้อความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงรับว่าจะออกหนังสือประกันให้ตามที่จำเลยเสนอมาในทันที แต่โจทก์กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในคำสนองว่าโจทก์จะออกหนังสือประกันให้ตามที่ถูกร้องขอก็ต่อเมื่อจำเลยยอมประกันช่วงแก่โจทก์ว่าจำเลยจะชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ชำระให้แก่ผู้รับประโยชน์คืนให้แก่โจทก์ เมื่อคำสนองดังกล่าวมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย จึงถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งมีผลเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 359 วรรคสอง และเมื่อโทรพิมพ์มิใช่คำสนองรับจากโจทก์ แม้จำเลยได้รับโทรพิมพ์ดังกล่าวที่ประเทศอิตาลี สัญญาขอให้ออกหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลยก็ยังหาได้เกิดขึ้นที่ประเทศอิตาลีดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่า เมื่อจำเลยได้รับโทรพิมพ์ดังกล่าวจากโจทก์ จำเลยมีโทรพิมพ์แผ่นที่ 2 ตอบกลับมายังโจทก์ จำเลยให้อำนาจโจทก์ระบุข้อความรับผิดในการประกันช่วงดังกล่าวได้โดยจำเลยมิได้ขอให้มีข้อความเพิ่มเติมหรือเงื่อนไขอย่างใดอีก โทรพิมพ์ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นคำสนองของจำเลย ดังนี้ สัญญาขอให้ออกหนังสือประกันและสัญญาประกันช่วงระหว่างโจทก์จำเลยย่อมเกิดขึ้นทันทีที่โจทก์ได้รับโทรพิมพ์ดังกล่าวที่ประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 วรรคแรก จึงต้องใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาเกิดคือกฎหมายไทยบังคับและต้องฟ้องต่อศาลไทย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นฟ้องด้วยในผล
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 65,840,499.52 บาท และจำนวน 4,098,294.52 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 เมษายน 2543) มิให้เกิน 22,403,808.33 บาท และมิให้เกิน 1,394,542.96 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท.

Share