แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์มิใช่ผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 154,438.36 บาท ตามที่โจทก์ขอ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 4459 มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกันหลายคนรวมทั้งนางวงษ์ ชะนะพงษ์ มารดาผู้ร้อง และนายสุด แช่มช้อย บิดาจำเลยที่ 1 โดยเจ้าของรวมแต่ละคนต่างแบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัด ต่อมาปี 2499 มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามที่แต่ละคนครอบครอง แต่ได้จดทะเบียนใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกผิดพลาดสลับกัน โดยใส่ชื่อนายสุดในที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 ซึ่งเป็นที่ดินที่นางวงษ์ครอบครอง และใส่ชื่อนางวงษ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 11129 โดยที่นางวงษ์และนายสุดไม่ทราบและไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินที่ตนมีชื่อในโฉนด ต่อมานายสุดได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 ให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 ต่อจากนางวงษ์โดยความสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี แล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ขอให้ปล่อยการยึดที่ดินดังกล่าว
โจทก์ให้การว่า นายสุดบิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 อย่างเป็นเจ้าของ และได้จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 ตำบลปลายกัด (ปลายกัดนอก) อำเภอบางซ้าย (เสนากลาง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องจะยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม หากผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องก็ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 1299 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่กรณีของโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.