แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างอาคารซึ่งติดกับแนวเขตที่ดินของบิดามารดาโจทก์ซึ่งโจทก์พักอาศัยอยู่ด้วย ทำให้มีเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นเข้าไปในบริเวณบ้านดังกล่าวและบ่อปลา เป็นเหตุให้ปลาแฟนตาซีคาร์พที่โจทก์เลี้ยงในบ่อตายจำเลยที่ 1 ผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2 ผู้ควบคุมงาน และจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
ปลาแฟนซีคาร์พ 7 ตัวของโจทก์ เป็นปลาพันธุ์ดีที่โจทก์ซื้อซึ่งนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น โจทก์เลี้ยงดูปลาอย่างดี มีบ่อเลี้ยงปลาที่ดีทั้งระบบนิเวศน์ระบบพักน้ำและระบายน้ำ เมื่อคำนึงถึงราคาที่ซื้อมา ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงดูแลรักษาตลอดจนระยะเวลาที่โจทก์ใช้ในการเลี้ยงดูปลาจนถึงวันที่ปลาตายเป็นเวลาเกินกว่า6 ปี ประกอบกับปลาทั้งเจ็ดตัวนี้เคยส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลทุกตัวจนมีผู้เสนอขอซื้อในราคาตัวละ 150,000 บาท จึงย่อมเป็นปลาที่โจทก์ภาคภูมิใจและมีค่าอย่างสูงในด้านจิตใจของโจทก์ ไม่อาจนำราคาปกติของปลาแฟนตาซีคาร์พทั่วไปในท้องตลาดมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายได้ เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 700,000 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2537 ถึงเดือนมิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 รับเหมาทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานจอดรถยนต์โครงการ “เมซองมณียา” มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง อาคารที่ก่อสร้างมีความสูง 27 ชั้น โดยมีแนวเขตที่ดินของตัวอาคารด้านทิศตะวันตกประชิดกับแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 6895 ตำบลสามเสนใน(บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และบ้านเลขที่ 21 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ของบิดามารดาโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พักอาศัยอยู่ด้วย และโจทก์ได้ก่อสร้างบ่อเลี้ยงปลาแฟนตาซีคาร์พในบริเวณบ้านด้านทิศตะวันออกห่างจากแนวเขตที่ดินประมาณ 17 เมตร ระหว่างการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองได้กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังไม่จัดหาเครื่องป้องกันเศษวัสดุอุปกรณ์ฝุ่นละอองจากสถานที่ก่อสร้างมิให้ตกหล่นปลิวเข้ามาในที่ดินและบ้านข้างเคียง ทำให้มีเศษวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างเช่น เศษไม้ เศษหิน เศษปูนซีเมนต์ เศษกระดาษ ถุงพลาสติก ฝุ่นละออง ปูนขาว ตะปู เศษเหล็กจากหน่วยงานก่อสร้างตกหล่นเข้ามาในบ้านของบิดามารดาโจทก์ และในบ่อปลาของโจทก์ ทำให้น้ำในบ่อปลาเน่าเสีย เกิดมลภาวะไม่เหมาะสมแก่การอาศัยเป็นเหตุให้ปลาแฟนตาซีคาร์พของโจทก์ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ถึงแก่ความตายจำนวน 7 ตัว ปลาแฟนซีคาร์พดังกล่าวโจทก์ซื้อมาจากบ่อเพาะเลี้ยงที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทยมีราคาตัวละ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท โจทก์ได้เลี้ยงอย่างทะนุถนอมเพื่อหวังส่งเข้าประกวดแข่งขัน ซึ่งปรากฏว่าปลาแฟนตาซีคาร์พของโจทก์สามารถชนะการประกวดหลายครั้งหลายคราว จนเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลและสถาบันที่นิยมเลี้ยง เคยมีผู้เสนอให้ราคาซื้อสูงถึงตัวละ 150,000 บาท โจทก์จึงขอเรียกร้องค่าเสียหายในราคาตัวละ 150,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 1,050,000 บาท โจทก์ทวงถามจากจำเลยทั้งสองแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,050,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการก่อสร้างโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยที่ 1 ได้กระทำการป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดจากการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ในสถานที่ใกล้เคียงเป็นอย่างดีและถูกต้องตามหลักวิชาการทุกขั้นตอน และหากบุคคลหรือสถานที่ข้างเคียงได้รับการกระทบกระเทือนหรือมีความเสียหายจากการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 บ้าง จำเลยที่ 1 ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ไปประสานงานแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเสียหายให้ทันที นายสมทรง ศรีเสริมวงศ์ เจ้าของบ้านเลขที่ 21 เคยแจ้งให้ทราบว่าบ้านได้รับความเสียหายเนื่องจากการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ก็ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไขและบรรเทาความเสียหายให้ทุกขั้นตอนจนเป็นที่พอใจทุกครั้ง ทั้งยังทำบันทึกชดใช้ค่าเสียหายเพื่อยุติข้อเรียกร้องกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้จัดการป้องกันความปลอดภัยของบ่อปลาตามที่นายสมทรงเรียกร้องด้วย บ่อปลาจึงไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการก่อสร้าง ที่นายสมทรงอ้างว่าสาเหตุที่ปลาตายเพราะปลากินเศษวัสดุก่อสร้างเข้าไปก็ได้มีการผ่าพิสูจน์การตายของปลาแล้วไม่ปรากฏว่าพบสิ่งแปลกปลอมในท้องปลาค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริงมาก ราคาปลาแฟนตาซีคาร์พอย่างสูงไม่เกินตัวละ 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทซันอัลลายแอนซ์ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับประกันภัยการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า การตายของปลาแฟนตาซีคาร์พไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องประกอบกับปลามีอายุมากจึงตายตามอายุขัย จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในการกระทำของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ปลาแฟนตาซีคาร์พมีราคาไม่เกินตัวละ 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 700,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2538 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงานจอดรถยนต์โครงการเมซองมณียา ซึ่งมีความสูง 27 ชั้น โดยมีแนวเขตที่ดินของตัวอาคารด้านทิศตะวันตกติดกับแนวเขตที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 21 ซอยสีฟ้า แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านของบิดามารดาโจทก์ การก่อสร้างทำให้มีเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นเข้าไปในบริเวณบ้านดังกล่าวและบ่อปลาเป็นเหตุให้ปลาแฟนตาซีคาร์พที่โจทก์เลี้ยงในบ่อตายจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2 ผู้ควบคุมงานและจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการเดียวว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เริ่มเลี้ยงปลาแฟนตาซีคาร์พตั้งแต่ปี 2526 โจทก์ซื้อปลาแฟนตาซีคาร์พจากบริษัทบางกอกแฟนตาซีคาร์พ จำกัด ซึ่งในช่วงปี 2527 เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในการนำเข้าปลาคาร์พจากประเทศญี่ปุ่น ปลาแฟนตาซีคาร์พที่โจทก์ซื้อมาทั้งหมดมีราคาตัวละประมาณ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท มีขนาดตั้งแต่ 10ถึง 20 เซนติเมตร ราคาดังกล่าวเป็นราคาท้องตลาดในขณะนั้น ปลาของโจทก์ทั้งเจ็ดตัวเป็นปลาที่โจทก์ส่งเข้าประกวดเมื่อปี 2530 และชนะการประกวดได้รับรางวัลทุกตัว ปลาที่ตายตัวแรกได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ตามภาพถ่ายหมาย จ.15 ส่วนตัวที่ตายเป็นตัวสุดท้ายได้รับรางวัลยอดเยี่ยมขนาดตามภาพถ่ายหมาย จ.16 ปลาที่ตายตามภาพถ่ายหมาย จ.14 จากซ้ายสุด ตัวแรกได้รับรางวัลชนะเลิศตามภาพถ่ายหมาย จ.17ตัวที่ 2 ได้รับรางวัลชมเชยตามภาพถ่ายหมาย จ. 18 ตัวที่ 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ตามภาพถ่ายหมาย จ.19 ตัวที่ 4 ได้รับรางวัลชมเชยตามภาพถ่ายหมาย จ.20ตัวที่ 5 ได้รับรางวัลและถ้วยรางวัลตามภาพถ่ายหมาย จ.21 มีผู้เสนอขอซื้อปลาแฟนตาซีคาร์พดังกล่าวในราคาตัวละ 150,000 บาทแต่โจทก์ไม่ต้องการขายเพราะยังมีใจรักที่จะเลี้ยงปลาต่อไป โจทก์เลี้ยงปลาแฟนตาซีคาร์พเพื่อความเพลิดเพลินเนื่องจากรักปลาในการเลี้ยงปลาแฟนตาซีคาร์พต้องเลี้ยงดูและดูแลเป็นพิเศษ น้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาจะต้องมีการกรองเพื่อทำให้น้ำสะอาดและบริเวณผิวน้ำไม่มีฝุ่นละออง สภาพบ่อต้องมีตัวปั๊มน้ำ เพื่อให้น้ำเข้าบ่อกรองและจากบ่อกรองเข้าในบ่อ ไหลหมุนเวียนกันตลอด 24 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงปลาแฟนตาซีคาร์พ มีค่าอาหาร ค่าล้างบ่อ ค่ายารักษาโรค ยาค่าเชื้อค่าไฟฟ้า ขนาดของปลาที่ตายมีขนาดที่เรียกว่าขนาดจัมโบ้ การคิดค่าเสียหาย โจทก์คำนวณจากค่าใช้จ่ายคูณด้วยระยะเวลาที่ปลามีชีวิตอยู่จนถึงวันที่ปลาตาย โจทก์ยังมีผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ของคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ดูแลวิจัยรักษาโรคสัตว์น้ำทุกประเภทเป็นพยานเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ว่าปลาคาร์พที่เพาะเลี้ยงในประเทศไทยซึ่งมีคุณภาพดีจะมีราคาตัวละ 20,000 บาท ถึง 30,000บาท มีขนาดลำตัวยาว 20 ถึง 30 เซนติเมตร ปลาคาร์พที่มีลำตัวยาว 70 ถึง 80 เซนติเมตรจะเสียค่าใช้จ่ายวันละ 50 บาท ถึง 100 บาท ปลาคาร์พของโจทก์ตามภาพถ่ายหมาย จ.14 เป็นปลาที่มีคุณภาพดี และมีความยาวลำตัว 60 เซนติเมตรขึ้นไปทุกตัว ปลาคาร์พที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีลักษณะสีที่สวยมากอาจมีราคาตัวละประมาณกว่าแสนบาทขึ้นไป ในปี 2537 ถึงปี 2538 ราคาปลาคาร์พที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงถึงตัวละเกินหนึ่งแสนบาท ปลาคาร์พมีอายุยืนนานที่สุดประมาณ 200 ปี ในกรณีที่มีผู้นำมาเลี้ยงไว้ตามบ้านมีอายุเฉลี่ยประมาณ 20 ปี ฝ่ายจำเลยมีนายอมร รัตนจันทราทนายความจำเลยทั้งสองเบิกความว่า จากการสอบถามของจำเลยทราบว่า ปลาคาร์พที่ขายในท้องตลาดในประเทศไทยมีราคาอย่างมากไม่เกินตัวละ 10,000 บาท ส่วนนางสาวพรรษมน ประณุทนรบาล พยานจำเลยทั้งสองซึ่งเคยทำงานกับจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปว่า ได้มีการสืบราคาปลาคาร์พที่ตายในขณะนั้น ปลาคาร์พที่มีราคาดีในท้องตลาดมีราคาตัวละประมาณ 20,000 บาท เห็นว่า พยานจำเลยทั้งสองเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ทั้งได้ความจากนายพันธุ์พงศ์ สหัสรังสี พยานจำเลยทั้งสองซึ่งเคยทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ 1 ในระหว่างปี 2535 ถึงปี 2538 ว่า สภาพบ่อปลาที่เกิดเหตุมีการใช้ระบบนิเวศน์ที่ดีมาก มีระบบพักน้ำ และระบบระบายน้ำที่ดี พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสองที่นำสืบมารับฟังได้ว่า ปลาแฟนตาซีคาร์พ 7 ตัวของโจทก์เป็นปลาพันธุ์ดีซึ่งโจทก์ซื้อมาจากบริษัทบางกอกแฟนซีคาร์พ จำกัด ซึ่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โจทก์เลี้ยงดูปลาอย่างดีมีบ่อเลี้ยงปลาที่ดีทั้งระบบนิเวศน์ ระบบพักน้ำและระบบระบายน้ำที่ดี ปลาทั้งเจ็ดตัวโจทก์เคยส่งเข้าประกวดและชนะได้รับรางวัลตามเอกสารและภาพถ่ายหมาย จ.15 ถึง จ.22 ทั้งขณะเกิดเหตุปลาทั้งเจ็ดตัวมีคุณภาพดี ความยาวลำตัว 60 เซนติเมตรขึ้นไปทุกตัว เมื่อคำนึงถึงราคาปลาที่โจทก์ซื้อมา ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงดูแลรักษาตลอดจนระยะเวลาที่โจทก์ใช้ในการเลี้ยงดูปลาจนถึงวันที่ปลาตายเป็นเวลาเกินกว่า 6 ปีประกอบกับปลาของโจทก์ทั้งเจ็ดตัวเป็นปลาที่โจทก์ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลทุกตัวจนมีผู้เสนอขอซื้อในราคาตัวละ 150,000 บาท ย่อมเป็นปลาที่โจทก์ภาคภูมิใจและมีค่าอย่างสูงในด้านจิตใจของโจทก์ จึงไม่อาจนำราคาปกติของปลาแฟนตาซีคาร์พทั่วไปในท้องตลาดมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายได้ เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ต่ำเกินไป และเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น