แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดว่า การหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อบริษัท บ. เป็นลูกหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันและหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระ จึงถือว่าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนลูกหนี้ และจำเลยตกเป็นลูกหนี้ของโจทก์ตั้งแต่เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไป ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นลูกหนี้ของจำเลยตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งหนี้ดังกล่าวก็ถึงกำหนดชำระแล้วเช่นกัน เมื่อขณะที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกันทั้งสองฝ่ายไม่ได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบกันได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 หมายถึงหนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบถึงความรับผิดชอบในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด
จำเลยได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังโจทก์ ขอให้นำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 9,119,733.86 บาท หักกลบลบกันกับหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2542 การหักกลบลบหนี้จึงเกิดขึ้นและมีผลโดยสมบูรณ์ไปก่อนที่จะมีการฟื้นฟูกิจการของโจทก์ หนี้ที่มีอยู่แต่ละฝ่ายระงับไปเท่ากับจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ ซึ่งในขณะนั้นมูลหนี้ที่จำเลยนำไปขอหักกลับยังคงมีอยู่และยังมิได้ระงับไป แม้ต่อมาภายหลังจำเลยได้นำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท ไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีที่โจทก์ขอฟื้นฟูกิจการ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้จำเลยได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน ก็ไม่ทำให้การหักกลบลบหนี้ดังกล่าวระงับหรือสิ้นผลไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด เป็นลูกหนี้โจทก์ในการสั่งซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างบ้านไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดในหนี้ที่บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด มีอยู่ต่อโจทก์ในวงเงิน 9,700,000 บาท ต่อมาโจทก์ฟ้องบริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด ให้ชำระหนี้และศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 11570/2542 ให้บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด ชำระเงินจำนวน 10,228,409.38 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,941,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,700,000 บาท นับแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกหนี้สินเชื่อจำเลยอยู่ 2 วงเงิน คือ หนี้วงเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท และหนี้วงเงินหุ้นกู้จำนวน 85,000,000 บาท โจทก์ค้างชำระดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ทั้งสองวงเงิน จำเลยได้มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าว ต่อมาจำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด ที่มีอยู่ต่อโจทก์ในวงเงิน 9,700,000 บาท เมื่อมีการคิดบัญชีระหว่างโจทก์กับบริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด แล้วปรากฏว่าบริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด เป็นหนี้โจทก์จำนวน 9,119,733.86 บาท จำเลยจึงขอหักกลบลบหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินกับหนี้ตามฟ้องคดีนี้ต่อโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ และไม่ยอมให้จำเลยหักกลบลบหนี้ โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดและในการฟื้นฟูกิจการของโจทก์ในคดีของศาลล้มละลายกลาง โจทก์มิได้แสดงเจตนาในการขอรับชำระหนี้ค้ำประกันกับจำเลย เพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าหนี้ดังกล่าวระงับไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นลูกค้าสินเชื่อของจำเลย และเป็นหนี้เงินกู้จำเลยสองวงเงิน คือ หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท และหนี้เงินหุ้นกู้จำนวน 85,000,000 บาท รวมสองวงเงินจำนวน 105,000,000 บาท และโจทก์ค้างชำระดอกเบี้ยทั้งสองวงเงิน เมื่อประมาณกลางปี 2540 จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด ไว้ต่อโจทก์จำนวน 5 ฉบับ รวมเป็นเงิน 9,700,000 บาท ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด มีหนังสือถึงจำเลยให้ชำระหนี้แทนโดยบริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด มีหนี้ค่าสินค้าโจทก์จำนวน 9,119,733.86 บาท ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2540 จำเลยทำหนังสือถึงโจทก์ขอนำหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์แทนบริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด จำนวน 9,119,733.86 บาท มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 3,415,178.09 บาท โดยเป็นการหักกลบลบหนี้เพียงเท่าจำนวนหนี้ที่บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด จะต้องชำระให้โจทก์ในคดีนี้จำนวน 9,119,733.86 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 หรือ ล.6 วันที่ 26 ธันวาคม 2540 โจทก์มีหนังสือตอบปฏิเสธการขอหักกลบลบหนี้ของจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.7 วันที่ 3 เมษายน 2441 โจทก์ฟ้องบริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด ให้ชำระเงินค่าสินค้า ระหว่างดำเนินคดีโจทก์ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์และตั้งผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2542 ตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยยื่นคำขอรับชำระหนี้ทั้งสองวงเงินส่วนที่เหลือหลังจากหักกลบลบหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้จำเลยได้รับชำระหนี้ดังกล่าว และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 ต่อมาจำเลยได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 วันที่ 10 เมษายน 2543 ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยจะใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้กับหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์เป็นหนี้จำเลย ตามเอกสารหมาย จ.4 หรือ ล.6 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า กรณีที่จำเลยมีหนังสือแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้มายังโจทก์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 โจทก์ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังจำเลยมีข้อความดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.7 โต้แย้งหนี้ที่จำเลยแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ทันที เป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้ตกลงยินยอมให้จำเลยหักกลบลบหนี้ หนี้ที่จำเลยนำมาขอหักกลบจึงเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่ ไม่อาจนำมาหักกลบลบกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงเรื่องการหักกลบลบหนี้ไว้ว่า ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น…” จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด เป็นลูกหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ดังกล่าวและเมื่อหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วแต่บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด ลูกหนี้ไม่ยอมชำระ จึงถือว่าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนลูกหนี้ และจำเลยตกเป็นลูกหนี้ของโจทก์ตั้งแต่เวลาที่บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด ลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไป ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นลูกหนี้ของจำเลยตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งหนี้ดังกล่าวก็ถึงกำหนดชำระแล้วเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่บริษัทบ้านบางปะอิน จำกัด มีอยู่ต่อโจทก์นั้น ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบกันได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์แต่ประการใด ที่โจทก์ฎีกาว่าหลังจากที่จำเลยมีหนังสือแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้มายังโจทก์ โจทก์มีหนังสือโต้แย้งการแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ตามเอกสารหมาย ล.7 ไปยังจำเลย หนี้ที่จำเลยนำมาหักกลบลบหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้นั้น เมื่อได้พิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย ล.7 แล้ว ข้อความดังกล่าวมีใจความว่า โจทก์มีความเห็นว่าการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ของจำเลยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และหลักการของการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทโจทก์ ซึ่งจะมีผลทำให้จำเลยได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ๆ นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยจึงไม่สามารถที่จะขอหักกลบลบหนี้ดังกล่าวได้ โจทก์ขอสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ค่าสินค้าจากลูกหนี้โดยตรงก่อนที่จะเรียกร้องจากจำเลยผู้ค้ำประกัน เห็นว่า หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 นั้น หมายถึงหนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบถึงความรับผิดในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด ซึ่งข้อความในเอกสารหมาย ล.7 หาได้มีข้อความตอนใดที่เป็นการปฏิเสธความรับผิดหรือโต้แย้งจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่ดังที่โจทก์ฎีกา
ที่โจทก์ฎีกาว่า ในคดีที่โจทก์ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง จำเลยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์เต็มจำนวน คือ หนี้หุ้นกู้จำนวน 85,000,000 บาท และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 20,000,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้จำเลยได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่จำเลยยื่นคำขอ เมื่อศาลล้มละลายกลางและเจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบในแผนฟื้นฟูกิจการของโจทก์ มูลหนี้ทั้งหมดที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่จึงได้ระงับไปโดยผลของกฎหมาย ไม่มีมูลหนี้ใดที่จำเลยจะอ้างและนำมาหักกลบลบหนี้กับโจทก์ได้อีกนั้น ในประเด็นข้อนี้โจทก์ยกขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวนี้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.6 ขอให้นำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 9,119,733.86 บาท หักกลบลบกันกับหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2542 การหักกลบลบหนี้จึงเกิดขึ้นและมีผลโดยสมบูรณ์ไปก่อนที่จะมีการฟื้นฟูกิจการของโจทก์ หนี้ที่มีอยู่แต่ละฝ่ายระงับไปเท่ากับจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ ซึ่งในขณะนั้นมูลหนี้ที่จำเลยนำไปขอหักกลับยังคงมีอยู่และยังมิได้ระงับไป แม้ต่อมาภายหลังจำเลยได้นำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท ไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีที่โจทก์ขอฟื้นฟูกิจการ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้จำเลยได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนก็ตาม ก็หาทำให้การหักกลบลบหนี้ดังกล่าวระงับหรือสิ้นผลไปแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.