คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์บรรยายความผิดฐานฉ้อโกงและหลอกลวงคนหางานว่าสามารถหางานในต่างประเทศ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอศาลให้สั่งจำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงไปให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามได้ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อหา ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ด้วย แม้จะมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 341 ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 200,000 บาท ที่ฉ้อโกงไปให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามตามที่โจทก์ขอมาได้
ก่อนยื่นฎีกา ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ของตนเฉพาะในส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวโดยอ้างว่าได้รับชดใช้เงินจากจำเลยเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งแก่จำเลยอีกต่อไป ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวเฉพาะในส่วนของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จึงระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 คนละ 65,000 บาท รวมเป็นเงิน 130,000 บาท ตกไปด้วย โจทก์ไม่อาจขอให้บังคับจำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้อีก คงขอให้บังคับได้เฉพาะผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 70,000 บาท เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30, 82, 91 ตรี และให้จำเลยคืนเงิน 220,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ 5 ปาก จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นการรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 5 ปาก เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม ส่วนข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสามนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงและหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศ สรุปได้ว่า จำเลยโดยทุจริตได้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสาม ซึ่งเป็นคนหางานว่าสามารถหางานหรือส่งผู้เสียหายทั้งสามไปฝึกงานในโรงงานในต่างประเทศได้ โดยผู้เสียหายทั้งสามจะได้รับเงินเดือน เดือนละ 22,000 บาท ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถหางานหรือส่งผู้เสียหายทั้งสามไปฝึกงานในต่างประเทศโดยได้รับค่าจ้างในอัตราดังกล่าวได้ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อมอบเงินจำนวน 75,000 บาท 75,000 บาท และ 70,000 บาท ตามลำดับ ให้แก่จำเลยเป็นค่าตอบแทนในการจัดหางาน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี และให้จำเลยคืนเงิน 220,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดฐานหลอกลวงคนหางานว่าสามารถหางานในต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี แล้ว ยังเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อีกบทหนึ่งด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอศาลให้สั่งจำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงไปให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามได้ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อหา ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ด้วย ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 200,000 บาท ที่ฉ้อโกงไปแก่ผู้เสียหายทั้งสามตามที่โจทก์ขอมาได้ แม้จะมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวด้วยก็ตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ดีปรากฏจากสำนวนและฎีกาของจำเลยว่า ก่อนยื่นฎีกา ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้ถอนคำร้องทุกข์ของตนเฉพาะในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว โดยอ้างว่าได้รับชดใช้เงินจากจำเลยจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งแก่จำเลยอีกต่อไป ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวเฉพาะในส่วนของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 คนละ 65,000 บาท รวมเป็นเงิน 130,000 บาท ตกไปด้วย โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้อีก โดยคงขอให้บังคับได้เฉพาะส่วนของผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 70,000 บาท เท่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225….
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 70,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 ยกคำขอให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share