คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2274/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 นั้นมิได้มีความหมายเฉพาะ ผู้ออกเช็คในฐานะ ผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดย เป็น ตัวการร่วมกันตาม ป. อาญามาตรา 83 ได้ ดังนั้นผู้สลักหลังเช็ค จึงอาจเป็น ตัวการร่วมกระทำผิดกับผู้ออกเช็คได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นออกหมายจับ และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชั่วคราว
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 3 นำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมายจ.1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 สลักหลังร่วมกันนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์ ในการแลกเงินสดโจทก์ได้มอบเช็คตามเอกสารหมาย จ.6 ให้โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเงิน และจำเลยที่ 3 ลงชื่อรับเช็คดังกล่าวไว้ที่ต้นขั้วตามเอกสารหมาย จ.5 พร้อมกับทำหนังสือยอมรับใช้หนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ไว้ให้โจทก์อีกด้วย ในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 ได้นำเช็คตามเอกสารหมาย จ.6 ไปเบิกเงินจากธนาคารต่อมาเมื่อเช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 3 ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาท รวม 3 เดือน ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่เห็นว่า คำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 นั้น มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็ค โดยเป็นตัวการร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับผู้ออกเช็คได้ การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คมอบให้จำเลยที่ 3 เพื่อนำไปแลกเงินสด จำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คพิพาท และร่วมกับจำเลยที่ 2นำไปแลกเงินสดจากโจทก์โดยจำเลยที่ 3 ทำหนังสือยอมรับใช้หนี้ตามเช็คพิพาทให้โจทก์ไว้ และโจทก์ได้มอบเช็คตามเอกสารหมาย จ.6ซึ่งโจทก์จ่ายให้ในการแลกเงินสดระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเงินทั้งจำเลยที่ 3 นำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารในวันเดียวกันทันที ต่อมาเมื่อเช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 3 ยังได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์อีกด้วยเช่นนี้ ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกเช็คพิพาทโดยให้จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายและมีจำเลยที่ 2 ที่ 3สลักหลังนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ ซึ่งถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นตัวการออกเช็คพิพาทร่วมกันนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินจากโจทก์จำนวน 12,000 บาท นั้นก็ขัดแย้งกับเช็คตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเงิน ส่วนที่อ้างว่าเหตุที่เช็คดังกล่าวระบุชื่อจำเลยที่ 3เพราะจำเลยที่ 2 มิได้นำบัตรประจำตัวไปด้วยนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยและไม่สมเหตุสมผล เมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share