แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
อ. เรียกเงินจาก ผ. เป็นค่าตอบแทนในการอำนวยความสะดวกติดต่อซื้อขายอะไหล่เครื่องยนต์ โดย อ. มีหน้าที่รับผิดชอบซ่อมแซมเครื่องจักร และบางครั้งสามารถสืบเสาะราคาอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะซื้อเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาจัดซื้อ แม้ว่าการสืบเสาะราคาอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะซื้อจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ อ. ก็ตาม แต่ อ. ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยอาศัยโอกาสในการทำงานกับโจทก์เป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อสัตย์ ทำให้บุคคลภายนอกขาดความเชื่อถือและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางทำมาหาได้ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และการกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ และเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งกำหนดให้ลงโทษเพียงการไล่ออกขั้นตอนเดียว เมื่อ อ. กระทำความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119 (4) โจทก์มีสิทธิเลิกจ้าง อ. ลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 โจทก์จ้างนายอภิเชษฐ วิจิตรเวชการ ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุง ค่าจ้างเดือนละ 8,820 บาท ค่าตำแหน่งเดือนละ 500 บาท จ่ายค่าจ้างเดือนละครั้ง ทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 โจทก์เลิกจ้างนายอภิเชษฐโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า สาเหตุที่เลิกจ้างเพราะนายอภิเชษฐกระทำการฝ่าฝืนระเบียบและทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นกรณีความผิดร้ายแรง จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากนายอภิเชษฐและมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ที่ 11/2548 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายอภิเชษฐเป็นเงิน 26,460 บาท โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงเพราะโจทก์เลิกจ้างนายอภิเชษฐโดยไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 โจทก์จ้างนายอภิเชษฐ วิจิตรเวชการ ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 8,820 บาท และค่าตำแหน่งเดือนละ 500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 โจทก์เลิกจ้างนายอภิเชษฐตามใบปลดออกจากงานเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2548 นายนายอภิเชษฐร้องทุกข์ต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ที่ 11/2548 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 26,460 บาท แก่นายอภิเชษฐ โจทก์อุทธรณ์ว่า นายอภิเชษฐได้เรียกเก็บเงินจากนายอำไพ สุวรรณโรจน์ ผู้จำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ แม้จะยังไม่ได้รับเงินจากที่เรียกร้องก็เป็นการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงแล้ว นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงว่า นายอภิเชษฐนัดหมายนายอำไพรับประทานอาหารและเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนในการอำนวยความสะดวกติดต่อซื้อขายอะไหล่เครื่องยนต์จริงและปรากฏตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ที่ 11/2548 เอกสารหมาย ล.4 ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำสั่งเป็นที่ยุติในชั้นศาลแรงงานภาค 9 ว่า นายอภิเชษฐมีหน้าที่รับผิดชอบซ่อมแซมเครื่องจักรและบางครั้งสามารถสืบเสาะราคาอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะซื้อเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาจัดซื้อ โดยพิจารณาสินค้าจากตัวแทนขายต่าง ๆ รวมทั้งนายอำไพตัวแทนขายของห้างหุ้นส่วนจำกัดสิริฉัตรเทรดดิ้ง ดังนั้น การที่นายอภิเชษฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ซ่อมแซมสืบเสาะราคาอุปกรณ์ในเครื่องจักร นัดหมายนายอำไพตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดสิริฉัตรเทรดดิ้ง รับประทานอาหารและเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนนั้น แม้ว่าการสืบเสาะราคาอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะซื้อจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของนายอภิเชษฐก็ตาม แต่นายอภิเชษฐก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยและได้เรียกรับเงินจากตัวแทนขายอันเป็นบุคคลภายนอกในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยอาศัยโอกาสในการทำงานกับโจทก์เป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อสัตย์ ทำให้บุคคลภายนอกขาดความเชื่อถือและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางทำมาหาได้ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) และการกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ บทที่ 7 ระเบียบวินัยและการดำเนินการทางวินัย ข้อ 33 ความซื่อสัตย์ ข้อย่อย 5 ที่ห้ามมิให้พนักงานหาผลประโยชน์ให้ตนเอง และเป็นความผิดร้ายแรงตาม ข้อ 36 เรื่องการเสนอหรือยอมรับอามิสสินจ้างในการทำงาน ซึ่งกำหนดให้ลงโทษเพียงการไล่ออกขั้นตอนเดียว เมื่อนายอภิเชษฐกระทำความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างนายอภิเชษฐลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงานภาค 9 พิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีร้ายแรงซึ่งนายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ที่ 11/2548 ลงวันที่ 20 เมษายน 2548.