คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ต้องผูกพันโดยตรงต่อผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับรวมทั้งเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปก่อนจากจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) การฟ้องร้องให้รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารจากโจทก์ไปขอรับสินค้าก่อนแล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามกำหนด หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจึงมิใช่เป็นหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
ป.พ.พ. มาตรา 193/33 วรรคหนึ่ง หมายความว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นคงขาดอายุความเฉพาะส่วนที่เกิน 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป ดอกเบี้ยที่ค้างชำระส่วนที่ยังไม่เกิน 5 ปี ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไปได้ไม่เกิน 5 ปี
ธนาคารโจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของโจทก์เป็นระยะ ๆ ดังน้นหากนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 13.50 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในช่วงหลังวันฟ้องในอัตราลอยตัวคือ ในอัตราเงินให้กู้ยืมทุกประเภทที่ผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินตามประกาศของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 และ 11 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์สำนักสาขาถนนเสือป่าเพื่อประกอบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากผู้ขายในประเทศสหรัฐอเมริการวม 2 ฉบับ เป็นเงินฉบับละ 29,700 ดอลลาร์สหรัฐ โดยตกลงว่า เมื่อโจทก์ชำระค่าสินค้า ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศแล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์รวม 2 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารการส่งสินค้านำไปรับสินค้าก่อน และตกลงจะนำเงินมาชำระภายในวันที่ 17 กันยายน 2529 และวันที่ 19 กันยายน 2529 ตามลำดับ เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์จึงได้ออกใบแจ้งเรียกเก็บเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสองฉบับเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วนโดยชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 ในช่วงระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2533 ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2536 รวมจำนวน 806,734.90 บาท และชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 2 ในช่วงระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2537 รวมจำนวน 210,000 บาท โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักชำระต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแแต่ละฉบับแล้ว จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 จำนวน 1,027,918.82 บาท และตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 2 จำนวน 2,439,348.67 บาท ในการคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 โจทก์อาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 3,467,267.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 653,071.16 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท ซึ่งเป็นเรื่องโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจได้ออกเงินทดรองแทนผู้อื่นมีกำหนดอายุความ 2 ปี ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระตามฟ้องมีอายุความ 5 ปี เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเรียกต้นเงินเกินกว่า 2 ปี และดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่เดือนมกราคม 2538 จนถึงวันฟ้องเกินกว่า 5 ปี คดีจึงขาดอายุความในวันที่ 6 ธันวาคม 2545 นับแต่เดือนธันวาคม 2537 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้หนี้ให้แก่โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 653,071.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2545 ในอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี และในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จของต้นเงิน 52,345.38 บาท และดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2542 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2545 ในอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี และอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จของต้นเงิน 600,725.78 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 7 และ 11 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อประกอบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากผู้ขายในประเทศสหรัฐอเมริการวม 2 ฉบับ เป็นเงินฉบับละ 29,700 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 5 จ. 6 จ. 14 และ จ. 15 โจทก์ตกลงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ 2 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารการส่งสินค้าไปรับสินค้าก่อนโดยตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทภายในวันที่ 17 กันยายน 2529 และวันที่ 19 กันยายน 2529 ตามลำดับ ตามสัญญาทรัสต์รีซีทและตั๋วแลกเงินพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 7 ถึง จ. 10 และ จ. 16 ถึง จ. 19 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวรวม 3 ฉบับ ในวงเงิน 500,000 บาท 500,000 และ 1,000,000 บาท นอกจากนี้ยังมีจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวรวม 2 ฉบับ ในวงเงินฉบับละ 1,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. 26 ถึง จ. 30 ต่อมาเมื่อครบกำหนดชำระเงิน โจทก์ได้ออกใบแจ้งเรียกเก็บเงินตามเอกสารหมาย จ. 11 และ จ. 20 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสองฉบับเพียงบางส่วนคือ จำนวน 806,734.90 และจำนวน 210,000 บาท ตามลำดับ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่าหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีทขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต การที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่ผู้ขายสินค้าในต่างประเทศตามคำขอของจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้ความคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สินค้าว่าจะได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่สั่งซื้อจากผู้ขายในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต ขณะเดียวกันก็เป็นการที่โจทก์รับรองต่อผู้ขายสินค้าว่าผู้ขายสินค้าจะได้รับการชำระเงินอย่างแน่นอน ถ้าผู้ขายสินค้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงเป็นกรณีที่โจทก์ต้องผูกพันโดยตรงต่อผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับรวมทั้งเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปก่อนจากจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ดังที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ การฟ้องร้องให้รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนสัญญาทรัสต์รีซีท เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารจากโจทก์ไปขอรับสินค้าก่อนแล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามกำหนด หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจึงมิใช่เป็นหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ดังจำเลยทั้งสามอุทธรณ์เช่นกัน สำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 10 ปี หนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทจึงยังไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามมีว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีทให้โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 16 ธันวาคม 2536 และวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ตามลำดับ โจทก์ต้องฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระในกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 6 ธันวาคม 2545 ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงขาดอายุความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ…” ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวหมายความว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นคงขาดอายุความเฉพาะส่วนที่เกิน 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป ดอกเบี้ยที่ค้างชำระส่วนที่ยังไม่เกิน 5 ปี ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปได้ไม่เกิน 5 ปี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2541 ของต้นเงิน 52,345.38 บาท และนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2542 ของต้นเงิน 600,725.78 บาท จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 6 ธันวาคม 2545 นั้น เมื่อนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไปไม่เกิน 5 ปี จึงชอบแล้ว
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 24 และ จ. 25 ว่าโจทก์ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของโจทก์เป็นระยะ ๆ ดังนั้นหากนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในกรณีนี้ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 13.50 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในช่วงหลังวันฟ้องในอัตราลอยตัวคือ ในอัตราเงินให้กู้ยืมทุกประเภทที่ผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงิน ตามประกาศของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 52,345.38 บาท และ 600,725.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในอัตราเงินให้กู้ยืมทุกประเภทที่ผิดนัดชำระหนี้ตามประกาศของโจทก์ในชุดเอกสารหมาย จ. 24 ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 (เท่ากับอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี) กับประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้กู้ยืมฉบับที่โจทก์จะประกาศต่อ ๆ ไปหลังวันฟ้องตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ แต่ดอกเบี้ยหลังวันฟ้องทุกอัตราต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 13.50 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความในชั้นนี้ 30,000 บาท แทนโจทก์.

Share