คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6754/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ก. ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2513 ก. ได้จดทะเบียนการซื้อขายให้แก่ ด. ในวันเดียวกัน ด. ได้แบ่งที่ดินพิพาทเป็น 6 แปลง และจดทะเบียนแบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และ ป. บิดาโจทก์ที่ 3 แต่ก่อนหน้านั้นในปี 2513 จำเลยฟ้อง ก. ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นของ ก. ตกเป็นของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2513 โดยพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย คดีถึงที่สุด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและ ก. ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์ทั้งสามจะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่โจทก์ที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาท 1 แปลงมาจาก ป. และ ป. กับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ด. โดย ด. รับโอนที่ดินพิพาททั้งหมดมาจาก ก. คดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ก. ด้วย จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า เดิมนายดี อินทร์ธรรม เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 7 เนื้อที่ 35 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2513 นายดีได้แบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 42/7 และ 46/7 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา กับ 1 งาน 20 ตารางวา (ที่ถูก 40 ตารางวา) ตามลำดับ แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 2 แปลง เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 43/7 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา กับที่ดินส่วนเนื้อที่ 1 งาน 40 ตารางวา และแบ่งที่ดินให้แก่นายปัด อินทร์ธรรม บิดาโจทก์ที่ 3 อีก 1 แปลง เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา ภายหลังนายปัดยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 3 โจทก์ทั้งสามครอบครองที่ดินที่ได้รับการยกให้ตลอดมา ส่วนที่ดินที่เหลือนายดีแบ่งให้จำเลยแต่ยังมิได้จดทะเบียนการโอนให้ เพราะนายดีได้ถึงแก่ความตายก่อน ปี 2518 โจทก์ที่ 2 ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด จำเลยขอทำนาในที่ดินของโจทก์ทั้งสามรวม 20 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา โดยจำเลยตกลงแบ่งผลผลิตในที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสามตลอดมา เมื่อเดือนมกราคม 2542 โจทก์ทั้งสามขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินคืน แต่จำเลยไม่ปฎิบัติตามคำขอของโจทก์ทั้งสาม ที่ดินพิพาทหากทำนาจะได้ข้าวเปลือกปีละ 4,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 6 บาท คิดเป็นเงินปีละ 24,000 บาท ขอให้จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง กับให้ใช้ค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสามไม่อาจทำนาปีละ 24,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นบุตรนายดี อินทร์ธรรม เดิมที่ดินพิพาทรวมอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่เนื้อที่ 35 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา มีหลักฐานเป็นที่ดิน ส.ค.1 ของนายแก้ว ยางงาม เมื่อปี 2498 นายแก้วขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา 2,100 บาท จำเลยได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวทำนาตลอดมา เมื่อปี 2513 นายแก้วไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในที่ดินดังกล่าวซึ่งไม่ชอบเพราะออกทับที่ดินของจำเลยทั้งแปลง จำเลยไปคัดค้าน และฟ้องนายแก้วห้ามรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวของจำเลย ต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย จำเลยครอบครองทำงานโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยโจทก์ทั้งสามไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือโต้แย้งคัดค้าน เมื่อปี 2516 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 บุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทจำเลยจึงได้ฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีอาญาสินไหมต่อศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับว่าที่ดินพิพาททั้งหมดเป็นของจำเลยและจะไม่ยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ยกเว้นที่ดินที่โจทก์ที่ 1 ปลูกบ้าน เนื้อที่ 1 งาน 40 ตารางวา โจทก์ที่ 1 ยังคงอาศัยอยู่ ปี 2517 โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ที่ 1 อาศัยอยู่ จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี แต่ยังคงอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 อาศัยอยู่ต่อ จำเลยไม่ทราบเรื่องการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 7 ให้แก่นายแก้ว เพราะจำเลยได้คัดค้านไว้แล้วตั้งแต่ปี 2513 การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ นอกจากนี้นายแก้วยังได้สมคบกับนายดีและโจทก์ทั้งสามแบ่งแยกโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสามโดยไม่สุจริต จำเลยขอให้นายแก้วและโจทก์ทั้งสามเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ทั้งสามไม่ยินยอม ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 7, 42/7, 43/7, 44/7, 45/7, 46/7 ตำบลดู่ (ปัจจุบันตำบลโจดม่วง) อำเภอราษีไศล (ปัจจุบันกิ่งอำเภอศิลาลาด) จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของจำเลย ห้ามโจทก์ทั้งสามเข้าเกี่ยวข้อง และขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวทั้งหมด ถ้าหากโจทก์ทั้งสามไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสาม กับขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างนายแก้วกับนายดีและการให้ระหว่างนายดีกับโจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสามได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบ และโจทก์ทั้งสามครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง คดีขาดอายุความ ขณะที่จำเลยฟ้องนายแก้ว โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแล้ว ทั้งเป็นการฟ้องเกี่ยวกับที่ดินแปลงอื่น คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสาม โจทก์ที่ 1 กับสามีโจทก์ที่ 2 ไม่เคยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 7, 42/7, 43/7, 44/7, 45/7 และ 46/7 ตำบลดู่ (ปัจจุบันตำบลโจดม่วง) อำเภอราษีไศล (ปัจจุบันกิ่งอำเภอศิลาลาด) จังหวัดศรีสะเกษ ห้ามโจทก์ทั้งสามเข้าเกี่ยวข้อง กับให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปยื่นคำขอเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 42/7, 43/7, 45/7 และ 46/7 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม กับโจทก์ทั้งสาม กับให้โจทก์ทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งในส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 7 และยกคำขอของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 42/7, 43/7, 45/7 และ 46/7 เสียด้วย กับให้โจทก์ทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า นายดี อินทร์ธรรม เป็นบิดาของโจทก์ที่ 1 นางเสาร์หรือวาน แสนวิชา และนายปัดหรือพระภิกษุปัด อินทร์ธรรม นางเสาร์หรือวาน เป็นมารดาโจทก์ที่ 2 นายปัดเป็นบิดาโจทก์ที่ 3 เดิมนายแก้ว ยางงาม มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม ส.ค.1 ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วย ต่อมานายแก้วจะนำที่ดินดังกล่าวไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจะขายให้นายดี จำเลยได้คัดค้านการขายที่ดินว่านายแก้วได้ขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2438 ตามหนังสือคัดค้านเอกสารหมายเลย ล.17 เจ้าพนักงานที่ดินทำการเปรียบเทียบ แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงมีคำสั่งให้จำเลยในฐานะผู้คัดค้านไปฟ้องคดีต่อศาลแล้วนำสำเนาคำฟ้องมาแสดงภายใน 30 วัน แต่จำเลยมิได้ปฎิบัติตาม เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนการซื้อขายให้แก่นายแก้วและนายดีตามบันทึกเอกสารหมาย ล.18 ในวันเดียวกันนายดีได้แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น 6 แปลง แล้วแบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 2 แปลง คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 42/7 และ 46/7 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา และ 1 งาน 40 ตารางวา ตามลำดับ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเรื่องราวการจดทะเบียนและหนังสือแบ่งให้เอกสารหมาย จ.7/1 ถึง จ.12 แบ่งให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 2 แปลง เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 43/7 และ 45/7 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา และ 1 งาน 40 ตารางวา ตามลำดับ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเรื่องราวการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.15 จ.16 และ จ.18 กับแบ่งที่ดินให้นายปัดหรือพระภิกษุปัด อินทร์ธรรม บิดาโจทก์ที่ 3 จำนวน 1 แปลง เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 44/7 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.14 ที่ดินส่วนที่เหลือยังคงมีชื่อของนายดีเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง ในปี 2513 จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องนายแก้วเพื่อขอแสดงสิทธิครอบครองในที่ดินมีหลักฐานเป็น ส.ค.1 คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยผู้มีสิทธิครอบครอง เนื่องจากนายแก้วขายที่ดินให้แก่จำเลยแล้วตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 172/2515 ของศาลอุทธรณ์เอกสารหมาย ล.1 ปี 2516 จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 1 กับนายขัน นิยม สามีโจทก์ที่ 2 ข้อหาบุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของจำเลย ซึ่งต่อมาโจทก์ที่ 1 และนายขันแถลงต่อศาลยอมที่จะไม่เกี่ยวข้องทำนาในที่ดินดังกล่าวอีก แต่ขออยู่อาศัยในบ้านที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวต่อไป โดยสงวนสิทธิจะไปใช้สิทธิฟ้องศาลให้วินิจฉัยว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ใดต่อไปตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2516 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 726/2516 คดีหมายเลขแดงที่ 1461/2516 ของศาลชั้นต้น ต่อมาปี 2517 โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยขอแสดงสิทธิในที่ดิน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 184/2518 ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ที่ดินดังกล่าวจำเลยมีสิทธิครอบครองอยู่ตามหมายเรียกพยานบุคคลและสารบบคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือจำเลย เห็นว่า แม้เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายแก้ว ยางงาม ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2513 นายแก้วได้จดทะเบียนการซื้อขายให้แก่นายดี อินทร์ธรรม ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.5 ในวันเดียวกันนายดีได้แบ่งที่ดินพิพาทเป็น 6 แปลง และจดทะเบียนแบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และพระภิกษุปัด อินทร์ธรรม บิดาโจทก์ที่ 3 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 42/7 46/7 43/7 45/7 และ 44/7 แต่ปรากฎว่า ก่อนหน้านั้นในปี 2513 จำเลยฟ้องนายแก้วขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นของนายแก้วตกเป็นของจำเลยศาลชั้นต้นมีคำพิพาทเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2513 โดยพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 172/2515 ของศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและนายแก้ว ซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์ทั้งสามจะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาท 1 แปลงมาจากนายปัดและนายปัดกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายดีโดยนายดีรับโอนที่ดินพิพาททั้งหมดมาจากนายแก้ว คดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจากนายแก้วด้วย คดีนี้จะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ฎีกาข้ออื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share