คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับรถในทางในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง และลงโทษผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่
จำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตขับรถทุกประเภท เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2545 เวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา จำเลยกระทำโดยประมาทโดยขับรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ไปจอดบนถนนบุณฑริก – หนองแสง กีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง ซึ่งขณะนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในทิศทางเดียวกันมีผู้เสียหายนั่งซ้อนท้าย แล่นเข้าชนท้ายรถพ่วง ทำให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายได้รับอันตรายเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เหตุเกิดที่ตำบลโพนงาม อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6, 11, 61, 78, 148, 151, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 90, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 61, 78 วรรคหนึ่ง, 148, 151, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาท (และจอดรถในทางโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานเป็นผู้ขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นและไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและตาย จำคุก 3 เดือน รวมลงโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 1 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 2 ปี และปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 160 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ไปจอดบนถนนโดยกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง ซึ่งขณะนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอเป็นเหตุให้นายวิวัฒน์ผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในทิศทางเดียวกันมีนายเกรียงผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายแล่นเข้าชนท้ายรถพ่วง รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในข้อกฎหมายต่อไปด้วยว่าที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 มาด้วยนั้น ชอบหรือไม่ โดยเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกัน เห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยจอดรถอยู่บนถนนมิใช่จำเลยขับรถอยู่ในทาง ซึ่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถหรือสัตว์และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย ความมุ่งหมายของกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางไม่ว่าจะกระทำโดยประมาทหรือไม่ก็ตาม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่
เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจรทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมา ชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไปการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

Share