คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71-72/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์กล่าวข้อความก้าวร้าวเสียดสีคำพิพากษาซึ่งศาลได้กระทำในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลสั่งให้แก้ไขข้อความให้เรียบร้อยเสียก่อนก็ยังกล่าวความเช่นนั้นอีก ศาลสั่งให้แก้เป็นครั้งที่ 2 ก็ไม่แก้และยืนยันให้ถือฟ้องอุทธรณ์นั้น ดังนี้ ศาลมีอำนาจสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ได้
ถ้อยคำที่กล่าวในฟ้อง จะมีความหมายธรรมดาถึงขนาดที่จะต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
เรียงฟ้องอุทธรณ์กล่าวข้อความก้าวร้าวเสียดสี ศาลผู้ทำการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นอย่างแรง ศาลสั่งให้แก้ไขเสียให้เรียบร้อยก็คงเรียงฟ้องอุทธรณ์กล่าวข้อความอย่างเดิมมายื่นอีก จนศาลสั่งให้แก้ไขเป็นครั้งที่ 2 ก็ยังเรียงคำร้องยื่นต่อศาลขอยืนยันให้รับอุทธรณ์นั้น ดังนี้ถือว่าเป็นคำกล่าวที่ไม่เรียบร้อย อันควรจะนำมายื่นต่อศาลผู้กระทำการในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลและ เมื่อศาลสั่งให้แก้ไขความไม่เรียบร้อยนั้นเสียก็ไม่แก้กลับจงใจยืนยันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ศาลสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยตามอำนาจศาลที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 นั้นอีก จึงเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 301
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องอุทธรณ์แล้วสั่งว่า “อุทธรณ์โจทก์กล่าวข้อความก้าวร้าวศาลเป็นทำนองว่าศาลทำไปนั้นไม่ยุติธรรม ดังที่ขีดเส้นแดงไว้ ให้โจทก์แก้ไขข้อความให้เรียบร้อยก่อนจึงจะรับเป็นอุทธรณ์” โจทก์ทำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่ ศาลตรวจแล้วสั่งว่า “อุทธรณ์โจทก์กล่าวเสียดสีและก้าวร้าวศาล ซึ่งศาลได้สั่งให้แก้แล้ว โจทก์ก็ยังแสดงเช่นนั้นอีก แสดงว่าโจทก์จงใจหมิ่นประมาทศาล ให้โจทก์จัดการแก้ไขใหม่จึงจะรับอุทธรณ์โจทก์คงยืนยันให้ถือฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงสั่งไม่รับอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้สั่งรับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์เสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ ประนามศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีนั้นว่า ตัดสินเอาง่าย ๆ ไม่สมเป็นศาลยุติธรรมที่ประชาชนจะมอบตนให้อยู่ในความอารักขา ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่จำเป็นที่ผู้ว่าความจะพึงกล่าวเพื่อความแพ้ชนะแห่งคดี ทั้งเป็นข้อความที่ก้าวร้าวเสียดสีคำพิพากษาซึ่งศาลได้กระทำในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องของโจทก์ที่อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

Share