แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บัตรภาษีมีมูลค่าเป็นเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในบัตรภาษีนำไปใช้แทนเงินสดในการชำระภาษีแก่กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิตได้ หากการได้รับบัตรภาษีไว้เป็นลาภมิควรได้ก็ต้องถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไว้ดังกล่าวเป็นเงินจำนวนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 412
กฎหมายบัญญัติหลักในการคืนเงินที่เป็นลาภมิควรได้ว่า ผู้ได้รับนั้นต้องคืนเงินเต็มจำนวน ส่วนการคืนลาภมิควรได้เพียงบางส่วนที่ยังคงมีอยู่ในขณะที่เรียกคืนเพราะได้รับมาโดยสุจริตเป็นข้อยกเว้น เมื่อจำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การของตน เพราะปัญหาว่าสุจริตหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยรับเงินซึ่งเป็นลาภมิควรได้ไว้โดยสุจริตหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยคำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง แม้โจทก์และจำเลยไม่ยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นการคำนวณและระบุจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินชดเชยค่าภาษีอากร จำนวน 215,209.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 130,630.61 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และโจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงินชดเชยค่าภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 215,209.46 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 130,630.61 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทโลตัสสยามเอ็กซปอร์ต จำกัด ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์อ้างว่า บริษัทได้ส่งออกสินค้าไปนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาออก 7 ฉบับ บริษัทมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามกฎหมาย และขอโอนสิทธิในการรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวให้แก่จำเลย จำเลยยื่นคำขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีที่โจทก์จะออกให้ตามคำขอของบริษัทดังกล่าว โดยสัญญาว่า กรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์หลงเชื่อว่าใบขนสินค้าขาออกที่บริษัทสยามโลตัสเอ็กซปอร์ต จำกัด ยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง และบริษัทมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามกฎหมาย จึงจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีมูลค่า 164,990.50 บาท ให้แก่จำเลย และจำเลยนำบัตรภาษีดังกล่าวไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าภาษีอากรแล้วเป็นเงิน 130,630.61 บาท ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าใบขนส่งสินค้าขาออกที่บริษัทสยามโลตัสเอ็กซปอร์ต จำกัด ได้ยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรมีใบขนสินค้าขาออก 5 ฉบับ ที่สำแดงเท็จ ไม่มีการส่งออกสินค้าตามที่ระบุในใบขนสินค้าขาออก บริษัทไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามคำขอที่ยื่น โจทก์ทวงถามจำเลยให้ใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษี 130,630.61 บาท แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง เพราะจำเลยได้รับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนซึ่งเป็นลาภมิควรได้ จำเลยนำบัตรภาษีไปใช้หมดแล้วไม่มีบัตรภาษีหรือเงินเหลืออยู่ จึงไม่ต้องใช้คืนหรือไม่ เห็นว่า บัตรภาษีมีมูลค่าเป็นเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในบัตรภาษีและนำไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์ กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตได้ จึงถือได้ว่าเป็นเงินจำนวนหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 ที่บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน”
คดีมีปัญหาประการต่อมาว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า กฎหมายบัญญัติหลักในการคืนลาภมิควรได้ที่เป็นเงินว่า ผู้ได้รับต้องคืนเงินนั้นเต็มจำนวน ส่วนการคืนเงินลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเรียกคืนเพราะได้รับมาโดยสุจริตนั้นเป็นข้อยกเว้น เมื่อจำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การของตน เพราะปัญหาว่า “สุจริตหรือไม่” เป็นข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยรับเงินซึ่งเป็นลาภมิควรได้ไว้โดยสุจริตหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
อนึ่ง ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2546 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 กรกฎาคม 2547) เป็นจำนวน 84,578.85 บาท ซึ่งเป็นจำนวนตามที่โจทก์คำนวณนับแต่วันที่จำเลยได้รับบัตรภาษี และพิพากษาให้จำเลยใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันฟ้องรวม 215,209.46 บาท ซึ่งเป็นต้นเงินที่รวมดอกเบี้ยที่โจทก์คำนวณนับแต่วันที่จำเลยได้รับบัตรภาษี คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางจึงไม่ถูกต้อง แม้โจทก์และจำเลยจะไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ แต่กรณีเป็นการคำนวณและระบุจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงิน 130,630.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 กรกฎาคม 2547) ให้จำเลยรับผิดไม่เกิน 84,578.85 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ยกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลย ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.