คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6774/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอให้เลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้วางหลักเกณฑ์ของมาตรฐานการทำงานไว้ และโจทก์ได้รับการประเมินผลงานในเกณฑ์ดีกว่ามาตรฐานตลอดมา ไม่มีช่วงใดเลยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น แม้ประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์จะลดลงไปบ้าง แต่ต้องถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของจำเลย ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีความรู้ความสามารถไม่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบจึงฟังไม่ขึ้น การที่จำเลยมีรายได้ลดลงตั้งแต่ปี 2543 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันทางธุรกิจของโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือมือถือ และบริการโทรทางไกลราคาประหยัดขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แม้โจทก์ซึ่งมีหน้าที่เสนอกลยุทธ์ในการตลาดเพื่อแข่งขันกับภายนอก และโจทก์ไม่มีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันกับธุรกิจภายนอกให้เป็นผลสำเร็จดังที่จำเลยอ้าง แต่โจทก์ก็ยังทำงานได้เกณฑ์ตามมาตรฐานของจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มีความรู้ความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง จำเลยไม่สามารถเสนองานในตำแหน่งที่เหมาะสมให้แก่โจทก์ได้ จึงยังไม่ใช่เหตุผลสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 3,374,258.20 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 3,174,647 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะครบถ้วนแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 830,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดลูกค้าทั่วไป เงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 165,780 บาท วันที่ 20 มีนาคม 2545 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าไม่สามารถเสนองานในตำแหน่งที่เหมาะสมให้โจทก์ได้และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2545 จำเลยได้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,282,269 บาท ให้โจทก์รับไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยจำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีความสามารถเหมาะสมกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบอันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสภาวะการณ์ขณะนั้น จำเลยจึงย่อมมีสิทธิที่จะมอบหมายงานในความรับผิดชอบของโจทก์ให้บุคคลซึ่งจำเลยมั่นใจว่าสามารถรับผิดชอบงานได้เป็นผู้รับผิดชอบแทนโจทก์และหาตำแหน่งงานใหม่คือตำแหน่งผู้อำนวยการทรัพยากรบุคคลอันเป็นตำแหน่งงานอื่นซึ่งไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมให้โจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธที่จะทำงานในตำแหน่งดังกล่าว จำเลยไม่มีตำแหน่งงานอื่นซึ่งเหมาะสมให้แก่โจทก์ จึงต้องเลิกจ้างโจทก์ เช่นนี้ ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เห็นว่า การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โดยศาลจะต้องพิจารณาว่ามีเหตุเพียงพอให้เลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้วางหลักเกณฑ์ของมาตรฐานการทำงานไว้ว่า ผลการประเมินได้ระดับเอ (บวก) ถือว่าดีกว่ามาตรฐานมาก ระดับเอถือว่าดีกว่ามาตรฐาน ระดับบีถือว่าได้ตามมาตรฐาน ระดับซีต้องปรับปรุง ระดับดีต้องปรับปรุงทันที โจทก์ได้รับการประเมินผลงานจากจำเลยอยู่ในระดับเอซึ่งดีกว่ามาตรฐานตั้งแต่เริ่มทำงานคือวันที่ 1 ตุลาคม 2540 เฉพาะครึ่งปีหลังของปี 2544 เท่านั้น โจทก์จึงได้รับการประเมินผลงานอยู่ในระดับบี ซึ่งก็ยังอยู่ในมาตรฐาน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทำผลงานให้แก่จำเลยไว้ในเกณฑ์ดี ไม่มีช่วงใดเลยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น แม้ประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์จะลดลงไปบ้าง แต่ต้องถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของจำเลย ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีความรู้ความสามารถไม่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดจึงฟังไม่ขึ้น การที่จำเลยมีรายได้ลดลงตั้งแต่ปี 2543 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันทางธุรกิจของโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือมือถือ และบริการโทรทางไกลราคาประหยัดขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แม้โจทก์ซึ่งมีหน้าที่เสนอกลยุทธ์ในการตลาดเพื่อแข่งขันกับภายนอก และโจทก์ไม่มีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันกับธุรกิจภายนอกให้เป็นผลสำเร็จดังที่จำเลยอ้าง แต่โจทก์ก็ยังทำงานได้เกณฑ์ตามมาตรฐานของจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มีความรู้ความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง จำเลยไม่สามารถเสนองานในตำแหน่งที่เหมาะสมให้แก่โจทก์ได้ จึงยังไม่ใช่เหตุผลสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share