แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตร์มีจดหมายถึงบิดาแสดงความน้อยอกน้อยใจที่บิดาเกลียดชังดุด่ากล่าวว่าประจานต่าง ๆ ในที่สุดหาว่าบิดาโกงเครื่องเรือนแลขอให้บิดาออกไปอยู่กับบุตร์คนอื่นที่อื่น ดังนี้ บิดาจะฟ้องเรียกถอนคืนการให้ไม่ได้ กรณีไม่เข้าเข้าใน ม.531(2) และ (3) บิดาขายที่ให้บุตร์ด้วยราคาต่ำกว่าปกติยังไม่พอถือว่าเป็นการขายให้โดยสมยอม
ย่อยาว
คดีได้ความว่า ส.จำเลยเป็นบุตร์นายจ้อย ๆ ได้โอนโฉนดที่ดินที่ ๑๖๐๖ พร้อมทั้งบ้านเรือนให้ ส.จำเลยโดยเสน่หาและโอนขายที่ดินอีกแปลง ๑ ให้ ส.เป็นเงิน ๒๐๐ บาท ต่อมา ส.จำเลยได้โอนขายที่ ๒ แปลงนั้นซึ่งมีราคาประมาณ ๖๐๐๐ บาท ให้แก่ จ.จำเลยเป็นเงินโฉนดละ ๔๐๐ บาท ต่อมา ส.จำเลยมีจดหมายถึงนายจ้อยบิดา ใจความว่าบิดานินทาตนว่าเป็นคนลักขะโมย ว่าบิดารับปากว่าจะแบ่งเงินให้แล้วไม่ทำตามคำพูดหาว่าบิดาแช่งด่า และหาว่าบิดาโกงเครื่องเรือนของจำเลย ในที่สุดบอกให้บิดาออกจากที่ดินบ้านเรือนรายที่บิดายกให้และโอนให้ นายจ้อยจึงฟ้องจำเลยทั้ง ๒ หาว่าโอนที่ดินกันโดยสมยอมแล จ.จำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินรายพิพาทนี้
ศาลอุทธร์ฟังว่า ส.จำเลยมีหนังสือมาขับไล่โจทก์ แลหาว่าโจทก์คดโกงเครื่องเรือนดังนี้ คดีเข้ามาตรา ๕๓๑ ข้อ ๒ แล ๓ แลเห็นว่าการที่ จ.โอนขายที่ดินให้เพียง ๒๐๐ บาทน่าเชื่อว่าเป็นนิติกรรมอำพรางและการโอนระวางจำเลยทั้ง ๒ ก็เป็นการสมยอมกัน เพราะซื้อขายกันเพียง ๘๐๐ บาทเท่านั้น จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ทำลายการโอนที่ดินทั้ง ๒ แปลง
ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการซื้อขายระหว่างบิดาและบุตร์ ทั้งบิดาก็ยังหวังเก็บดอกผลในที่ดินได้อยู่ แสดงให้เห็นว่าย่อมเป็นธรรมดาที่จะขายให้แก่กันด้วยราคาต่ำกว่าปกติ โจทก์ไม่มีสิทธิขอเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงนี้ได้ ส่วนข้อที่ ส.จำเลยประพฤติเนรคุณหรือไม่นั้น เห็นว่าตาม ม.๕๓๑(๒) จำเลยมิได้ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์ อย่างร้ายแรงอย่างไร คำกล่าวของจำเลยเป็นถ้อยคำอันไม่สมควรที่บุตร์จะกล่าวแก่บิดาแลเห็นว่าได้กล่าวด้วยความน้อยอกน้อยใจส่วนมาตรา ๕๓๑(๓) เห็นว่า โจทก์เป็นคนมีทรัพย์ไม่ใช่คนขัดสนยากไร้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน จึงพิพากษากลับศาลล่างทั้ง ๒ ให้ยกฟ้องโจทก์