คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2636/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 เกินกำหนด 5 ปี คดีโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดดังกล่าวย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 จนเจ้าพนักงานหลงเชื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดและเป็นคุณกว่า พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มาตรา 8 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 14 และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นความผิดกระทงหนึ่ง ส่วนความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนเพราะบัตรประจำตัวประชาชนเดิมหมดอายุ ซึ่งจำเลยกระทำเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 และความผิดฐานใช้หรือแสดงใบรับคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2546 เป็นความผิดตาม มาตรา 14 (1) (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 14 (3) (ที่แก้ไขใหม่) ตามลำดับ จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดตาม (3) เป็นผู้กระทำความผิดตาม (1) ด้วย จึงให้ลงโทษตาม (3) แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 14 วรรคสอง และ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย จึงต้องระวางโทษตามมาตรา 14 วรรคสี่ อีกกระทงหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาจำคุกจำเลยกระทงนี้เพียง 1 ปี เป็นการลงโทษจำคุกต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมาย คือจำคุก 2 ปี นั้น ไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลฎีกาจึงมิอาจเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 แต่ให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 4, 14 ป.อ. มาตรา 83, 91, 137, 267, 268
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 268 พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 แต่ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267 และ พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อจำเลยเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความและใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 267) กระทงเดียวตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง จำเลยกระทำผิดรวมสองกระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 นั้น ความผิดฐานดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) แต่จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 เกินกำหนด 5 ปี คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 ซึ่งเจ้าพนักงานได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้มี พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มาตรา 8 ยกเลิกความในมาตรา 14 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตาม มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ จำเลยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย จึงต้องระวางโทษตาม มาตรา 14 วรรคสี่ ระวางโทษ จำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท โทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดกระทงหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 และวันที่ 6 มีนาคม 2546 ภายหลังจาก พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้แล้ว และเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) และมาตรา 14 (3) ตามลำดับ จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดตาม (3) เป็นผู้กระทำความผิดตาม (1) ด้วย จึงให้ลงโทษตาม (3) แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 14 วรรคสอง และเนื่องจากจำเลยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย จึงต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท ตามมาตรา 14 วรรคสี่ อีกกระทงหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาจำคุกจำเลยกระทงนี้เพียง 1 ปี และลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน อันเป็นการลงโทษจำคุกต่ำกว่าอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำนั้น ไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลฎีกาจึงมิอาจเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 แต่ให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดที่จำเลยกระทำเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 ให้ยกฟ้องเฉพาะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 จำเลยคงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 เฉพาะความผิดที่กระทำเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546, มาตรา 267, มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 267, 83 พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 (เดิม) เฉพาะความผิดที่กระทำเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539, ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 (เดิม) กระทงหนึ่ง, มาตรา 14 (1) (ที่แก้ไขใหม่) เฉพาะความผิดที่กระทำเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546, มาตรา 14 (3) (ที่แก้ไขใหม่) เฉพาะความผิดที่กระทำเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2546 เมื่อจำเลยเป็นผู้แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอเปลี่ยนบัตรตาม (1) และเป็นผู้ใช้หรือแสดงบัตรหรือใบรับอันเกิดจากการกระทำดังกล่าวตาม (3) จึงให้ลงโทษตามมาตรา 14 (3) แต่เพียงกระทงเดียว ตามมาตรา 14 วรรคสอง จำเลยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย จึงต้องระวางโทษตามมาตรา 14 วรรคสี่ อีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share