แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะพิจารณาว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาถึงสถานะทางการเงินของลูกหนี้ว่า มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ ในการพิจารณาดังกล่าวจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกัน อาจเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 หรืออาจจะเป็นข้อเท็จจริงใด ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ในการพิจารณาถึงสถานะที่แท้จริงของลูกหนี้ บัญชีงบดุลของลูกหนี้ เป็นพยานหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่แสดงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าหากว่าการจัดทำบัญชีงบดุลนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนดหรือมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสมาคมวิชาชีพนั้น ย่อมมีน้ำหนักในการรับฟัง
เมื่อธุรกิจของลูกหนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สาเหตุที่ลูกหนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการชะงักงันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง อันถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้สามารถรักษาองค์กรทางธุรกิจให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งสามารถจะรักษาการจ้างงานจำนวนมากไว้ กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และได้ความว่ากิจการของลูกหนี้ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยการปรับโครงสร้างทางการเงินทั้งในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ กรณีจึงมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ในการตั้งผู้ทำแผน เมื่อผู้ร้องขอเสนอให้ตั้งบริษัท บ. เป็นผู้ทำแผน ส่วนลูกหนี้เสนอให้ตั้งบริษัท ป. จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านได้เสนอให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนมาด้วย ศาลจึงไม่อาจพิจารณาและมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ทำแผนในชั้นนี้ได้ จะต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17
เมื่อผู้ร้องขอมิได้เสนอบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้บริหารชั่วคราว ประกอบกับผู้บริหารของลูกหนี้ได้บริหารกิจการของลูกหนี้มาตั้งแต่ต้นย่อมเป็นบุคคลที่ทราบข้อเท็จจริง ปัญหา ตลอดจนระบบการทำงานของลูกหนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อไม่ปรากฏเหตุที่ไม่สมควรตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวประกอบกับการตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวในระหว่างดำเนินการเพื่อตั้งผู้ทำแผนจะทำให้การบริหารงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงสมควรตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว ตามมาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ยื่นคำร้องขอศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และแต่งตั้งบริษัท บ. เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
ศาลประกาศนัดไต่สวนคำร้องขอแล้ว
ลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านขอศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการพร้อมทั้งเสนอตั้งบริษัท ป. ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนของลูกหนี้ในการเจรจาภาระหนี้ต่าง ๆ เป็นผู้ทำแผน
ศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ
ผู้ร้องขอทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องขอทั้งสองเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้มีจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และลูกหนี้ได้ทำรายงานทางการเงิน ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ ประกอบด้วยงบดุล งบกำไรขาดทุน และรายงานของผู้สอบบัญชีซึ่งได้ตรวจสอบและรับรองโดยผู้สอบบัญชี รับอนุญาต รอบบัญชีสิ้นสุด วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ และรายงานทางการเงิน ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๓ ประกอบด้วย งบดุล งบกำไรขาดทุนและรายงานการสอบทานงบการเงิน โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ณ รอบบัญชีสิ้นสุด วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๓ ซึ่งลูกหนี้ได้จัดทำส่งแก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องขอทั้งสองในประการแรกว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงสถานะทางการเงิน ของลูกหนี้ว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ ในการพิจารณาดังกล่าวจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกัน อาจเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘ หรือ อาจเป็นข้อเท็จจริงใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ในการพิจารณาถึงสถานะที่แท้จริงของลูกหนี้บัญชีงบดุลของลูกหนี้เป็นพยานหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่แสดงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าหากว่าการจัดทำบัญชีงบดุลนั้น ได้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนดหรือมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสมาคมวิชาชีพนั้น ย่อมมี น้ำหนักในการรับฟัง เมื่องบการเงินที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องจัดทำบัญชีและงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีเพื่อแสดงถึงสถานะที่แท้จริง ของลูกหนี้แล้วพบว่าฐานะทางการเงินของลูกหนี้ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๓ และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ งบการเงินรวมมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวน ๑๗,๐๒๗.๕๐ ล้านบาท และ ๑๓,๙๒๙.๖๕ ล้านบาท และงบการเงินเฉพาะของบริษัทฯมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวน ๑๒,๒๗๗.๖๑ ล้านบาท และ ๙,๑๙๙.๘๗ ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นแสดงยอดขาดทุนเกินทุนจำนวน ๗,๘๘๑.๔๒ ล้านบาท และ ๔,๕๗๙.๓๐ ล้านบาท มีหนี้สินที่ถึงกำหนดและเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่เกินกำหนดชำระคืน จำนวน ๑๓,๗๕๕.๕๙ ล้านบาท และ ๑๓,๖๗๓.๖๑ ล้านบาท ลูกหนี้ได้หยุดชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องขอทั้งสองตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ซึ่งตามคำร้องขอลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องขอทั้งสองเป็นจำนวนถึงประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านบาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว อุทธรณ์ของผู้ร้องขอ ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ เมื่อธุรกิจ ของลูกหนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ลูกหนี้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหล็ก มีผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ของลูกหนี้ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) จากกระทรวง อุตสาหกรรม สาเหตุที่ลูกหนี้ประสบปัญหาทางการเงิน ส่วนหลักมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดค่า เงินบาทและการชะงักงันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ อันถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้สามารถรักษาองค์กรทางธุรกิจให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งปรากฏว่าลูกหนี้มีลูกจ้างกว่า ๑,๐๐๐ คน การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะทำให้สามารถรักษาการจ้างงานจำนวนมากนี้ไว้ต่อไป ทั้งปรากฏว่าก่อนที่ผู้ร้องขอทั้งสองจะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ได้พยายามประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย แต่การประนอมหนี้ภายนอกกรอบของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ยังไม่อาจสำเร็จได้ กรณีจึงมีเหตุสมควร ที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และได้ความว่ากิจการของลูกหนี้นั้นยังสามารถที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยการปรับโครงสร้างทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นโดยการขยายระยะเวลาในการชำระเงิน การแปลงหนี้เป็นทุน การร่วมทุนกับบริษัทอื่น เพื่อลดต้นทุนทางการผลิต ทั้งในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ กรณีจึงมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
กรณีปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ทำแผน นั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องขอทั้งสองเสนอให้ตั้ง บริษัท บ. เป็นผู้ทำแผน ส่วนลูกหนี้เสนอให้ตั้งบริษัท ป. เป็นผู้ทำแผน จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านได้เสนอให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผน มาด้วย ศาลจึงไม่อาจพิจารณาและมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ทำแผนในชั้นนี้ได้ จะต้องให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผนตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๑๗ ส่วนการที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แต่ยังไม่มี การตั้งผู้ทำแผนอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้ย่อมสิ้นสุดลง ศาลจะต้อง มีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหลายคน หรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน เมื่อในคดีนี้ผู้ร้องขอทั้งสองมิได้เสนอให้ศาลตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้บริหารชั่วคราวและศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้บริหารของลูกหนี้ได้บริหารกิจการของลูกหนี้มาตั้งแต่ต้น ย่อมเป็นบุคคลที่ทราบข้อเท็จจริง ปัญหา ตลอดจนระบบการทำงานของลูกหนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อไม่ปรากฏเหตุที่ไม่สมควรตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวแล้วประกอบกับการตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวในระหว่างดำเนินการเพื่อตั้งผู้ทำแผนจะทำให้ การบริหารงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงสมควรตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวตามมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคหนึ่ง
พิพากษากลับ ให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน ระหว่างดำเนินการเพื่อตั้ง ผู้ทำแผน ให้ผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว ทั้งนี้ให้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ต่อไปภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๙๐/๒๐ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.