คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างตามปกติ แต่ก็เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้างที่ว่า หากวันที่กำหนดตรงกับวันหยุดให้จ่ายค่าจ้างก่อนวันหยุดนั้น จึงถือเป็นการจ่ายค่าจ้างตามปกติ ไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า เมื่อนายจ้างได้หักค่าจ้างของโจทก์เพื่อส่งเป็นเงินสมทบแล้วในวันเดียวกัน จึงต้องถือว่าโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบเจ็ดเดือนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ รส ๐๗๒๘/๒๒๓๔๗ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ๑๐๖๔/๒๕๔๔ และให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรตามกฎหมายให้แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๗ ที่ รส ๐๗๒๘/๒๒๓๔๗ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๐๖๔/๒๕๔๔ ให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนใน กรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างรายเดือนของบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ กำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนละครั้ง ทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน หากวันจ่ายตรงกับวันหยุดจะจ่ายค่าจ้างก่อนวันหยุดนั้นนับแต่โจทก์เข้าทำงาน โจทก์ถูกนายจ้างหักค่าจ้างเป็น เงินสมทบส่งเข้ากองทุนประกันสังคมเรื่อยมาทุกเดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ นายจ้างได้จ่ายค่าจ้างและ หักค่าจ้างโจทก์เป็นเงินสมทบเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เหตุเพราะวันที่ ๒๔ และ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เป็นวันหยุด ต่อมาวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ โจทก์คลอดบุตรและได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรจากจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธการจ่าย เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายเดือนในวันสิ้นสุด ของเดือน มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าจ้าง และ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของ ผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๖ และเมื่อนายจ้างได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง” ซึ่งหมายความว่าที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง นายจ้างต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมโดยไม่เงื่อนไข ไม่ว่าการจ่ายค่าจ้างนั้นจะได้กระทำเมื่อใด ทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับนายจ้างกำหนดให้จ่ายค่าจ้างเดือนละครั้งทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน หากตรงกับวันหยุดให้จ่ายค่าจ้างก่อนวันหยุดนั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันที่ ๒๔ และ ๒๕ กุมภาพันธ์ เป็นวันหยุด นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ให้โจทก์ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ การที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในวันดังกล่าวจึงไม่ใช่การ จ่ายค่าจ้างล่วงหน้า เมื่อนายจ้างได้หักค่าจ้างของโจทก์เพื่อส่งเป็นเงินสมทบแล้วในวันเดียวกัน จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ จ่ายเงินสมทบเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ โจทก์จึงเป็นผู้ประกันตนที่ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๗ เดือน ตามเงื่อนไขในมาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร…
พิพากษายืน

Share