คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5414/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งหนี้ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้จึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่โจทก์นำมาฟ้องบังคับจำเลยผู้ลงลายมือชื่อไว้ได้ ส่วนจำนวนเงินกู้ที่ระบุไว้ 800,000 บาท เมื่อจำเลยต่อสู้และนำสืบพยานหลักฐานหักล้างและฟังได้ว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เพียง 400,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญาจำนองนั้นไม่สมบูรณ์เท่านั้น มิใช่กรณีที่ทำให้สัญญาจำนองเป็นเอกสารที่มีการทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
โจทก์หักเงิน 60,000 บาท เป็นค่าดอกเบี้ย 3 เดือนไว้ ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อสัญญาจำนองทำเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 และกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี ถือว่าเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนดจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีนับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2543 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 จำเลยกู้ยืมเงินและรับเงินกู้จำนวน 800,000 บาท ไปจากโจทก์ โดยจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 472 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ไว้ต่อโจทก์ และให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน กำหนดไถ่ถอนจำนองภายใน 1 ปี ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่ทำสัญญา จำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยและต้นเงินให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน จำเลยไม่ไถ่ถอน โจทก์ติดตามทวงถามหลายครั้ง จำเลยเพิกเฉย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระต้นเงินกู้จำนวน 800,000 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 230,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,030,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 800,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินตามฟ้อง จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 400,000 บาท แต่ได้รับเงินไปเพียง 340,000 บาท โดยโจทก์หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า 60,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่านับแต่จำเลยกู้ยืมเงินไปไม่เคยส่งดอกเบี้ยแก่โจทก์ จึงไม่เป็นความจริง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2543 จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ไปจำนวน 15,000 บาท สัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเท็จ สัญญาจำนองจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 472 ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 472 ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 โดยสัญญาจำนองระบุจำนวนหนี้ 800,000 บาท มีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้หรือไม่เพียงใด… ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 400,000 บาท แต่โจทก์หักดอกเบี้ยไว้ 60,000 บาท โจทก์ฎีกาว่า สัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 ได้จัดทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้จึงเป็นเอกสารที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถบังคับได้ เห็นว่า สัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 ระบุจำนวนเงินกู้ไว้ 800,000 บาท เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำรับของจำเลยว่าได้กู้ยืมเงินจำนวน 400,000 บาท โดยโจทก์หักดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท ไว้จึงรับเงินไปจากโจทก์จริง 340,000 บาท เมื่อโจทก์นำสืบสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งหนี้ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ สัญญาจำนองดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานหนังสือที่โจทก์ย่อมนำมาฟ้องบังคับจำเลยผู้ลงลายมือชื่อไว้ได้ ส่วนจำนวนเงินกู้ที่ระบุไว้ 800,000 บาท เมื่อจำเลยต่อสู้และนำสืบพยานหลักฐานหักล้างและฟังได้ว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เพียง 400,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญาจำนองไม่สมบูรณ์เท่านั้น หาใช่กรณีที่ทำให้สัญญาจำนองเป็นเอกสารที่มีการทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า สัญญาจำนองอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมไม่สมบูรณ์ โจทก์จะแสวงหาประโยชน์จากสัญญาจำนองมาเป็นหลักฐานในคดีไม่ได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท โดยจำเลยรับเงินไปจำนวน 340,000 บาท ส่วนอีก 60,000 บาท เป็นการชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ไปตามอำเภอใจ จึงพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 400,000 บาท จึงชอบแล้ว ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์หักเงิน 60,000 บาท สำหรับค่าดอกเบี้ย 3 เดือน ซึ่งเกินว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 ทำเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 และกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี ถือว่าเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีนับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2543 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 472 ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share