คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบและทราบการตายของ อ. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 และโจทก์ที่ 1 โดยรองอธิบดีฝ่ายที่ 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีของโจทก์ที่ 1 ทราบการตายของ อ. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2545 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ทราบการตายของ อ. ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงอยู่ในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม
ในขณะที่ อ. นำเข้ารถยนต์คันพิพาทนั้น โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ประเมินอากรไม่ให้ใช้ราคาตาม PRICE LIST เดิมเป็นราคามาตรฐานกลางและเป็นเกณฑ์ในการประเมินอากรต่อไป แต่ให้รอราคาประเมินตามที่คณะกรรมการติดตามและพิจารณาราคาประเมินกำหนดเสียก่อน การที่เจ้าหน้าที่ประเมินอากรเห็นว่าราคาที่ อ. สำแดงต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงสั่งตีราคาโดยใช้เกณฑ์การรับราคาตาม PRICE LIST ปีก่อน และกำหนดให้วางเงินประกันจึงไม่ขัดต่อระเบียบของโจทก์ที่ 1 เมื่อต่อมาคณะกรรมการติดตามและพิจารณาราคาประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ใช้ราคาขายปลีกในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นฐานราคาในการคำนวณราคาประเมิน ซึ่งอธิบดีของโจทก์ที่ 1 ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เจ้าหน้าที่ประเมินอากรย่อมมีอำนาจที่จะประเมินราคารถยนต์ที่ อ. นำเข้าและประเมินค่าภาษีอากรเสียใหม่ได้ การประเมินจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรตามจำนวนดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่มภาษีแต่ละประเภทตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 783,247.22 บาท ให้ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากร 111,433 บาท เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม 278,583 บาท 27,859 บาท 40,166 บาท ตามลำดับ แต่เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิตและเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องไม่เกินต้นเงินค่าภาษีที่ค้างชำระ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า เมื่อจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของนายอัจฉรินทร์ ศาลแพ่งได้ประกาศโฆษณาคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของนายอัจฉรินทร์ในหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งมีจำหน่ายในท้องที่กรุงเทพมหานครอันเป็นที่ตั้งของโจทก์ทั้งสาม โดยประกาศตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ทั้งสามควรทราบการตายของนายอัจฉรินทร์ตั้งแต่มีการประกาศหนังสือพิมพ์ดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 รับทราบการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของนายอัจฉรินทร์ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2544 อย่างช้าที่สุด โจทก์ทั้งสามควรรู้การตายของนายอัจฉรินทร์ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2544 การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันดังกล่าวข้างต้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เห็นว่า การประกาศหนังสือพิมพ์เพื่อโฆษณาคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของนายอัจฉรินทร์ที่ประสงค์จะคัดค้านได้มีโอกาสทราบและยื่นคำคัดค้านในเวลาที่กำหนดเท่านั้น หาได้มีผลผูกมัดให้บุคคลทุกคนจะต้องทราบการประกาศโฆษณาคำร้องขอนั้นแต่อย่างใด ส่วนการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของนายอัจฉรินทร์นั้น เป็นการดำเนินการในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เนื่องจากผู้นำเข้าไม่ชำระภาษี และสำนักงานที่ดินก็ไม่ได้แจ้งเกี่ยวกับการตายของเจ้าของกรรมสิทธิ์ อันจะถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ทราบการตายของนายอัจฉรินทร์แล้ว การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ทราบการตายของนายอัจฉรินทร์แล้วทำรายงานแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาในระดับอธิบดีหรือรองอธิบดีผู้ปฏิบัติราชการแทนของโจทก์ที่ 1 ได้ทราบ เมื่ออธิบดีของโจทก์ที่ 1 หรือรองอธิบดีผู้ปฏิบัติราชการแทนทราบรายงานนั้นแล้วจึงจะถือว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ทราบเรื่องที่ปรากฏตามรายงานนั้นด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบและทราบการตายของนายอัจฉรินทร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 และโจทก์ที่ 1 โดยนายเรืองศักดิ์รองอธิบดีฝ่ายที่ 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีของโจทก์ที่ 1 ได้ทราบการตายของนายอัจฉรินทร์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2545 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ทราบการตายของนายอัจฉรินทร์ ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงอยู่ในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางในประเด็นพิพาทข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า การประเมินของเจ้าพนักงานไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะนายอัจฉรินทร์ผู้ตายได้นำรถยนต์เข้ามาภายในประเทศโดยผ่านพิธีการถูกต้อง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีผิดพลาดโดยมาประเมินใหม่ตามราคาประเมินที่เกิดขึ้นหลังจากนายอัจฉรินทร์นำเข้า ซึ่งในขณะที่นายอัจฉรินทร์นำรถยนต์เข้านั้นโจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้ยกเลิกราคาตาม PRICE LIST เดิมแต่อย่างใด การประเมินจะต้องใช้ราคาตาม PRICE LIST ตามระเบียบของโจทก์ที่ 1 การประเมินเรียกเก็บภาษีอากรครั้งแรกจึงครบถ้วนตามกฎหมายและระเบียบของโจทก์ที่ 1 แล้ว ทั้งยังให้มีการวางประกันอีกด้วย แต่ราคาที่โจทก์ที่ 1 ประเมินใหม่สูงกว่าราคาตาม PRICE LIST ฉบับเดิมที่ยังไม่ถูกยกเลิกเป็นการเอาเปรียบผู้นำเข้าและขัดกับระเบียบของโจทก์ที่ 1 เอง การประเมินเพิ่มเติมจึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยระเบียบของโจทก์ที่ 1 นั้น ในข้อนี้ได้ความตามบันทึกถ้อยคำพยานที่บันทึกไว้ล่วงหน้าของเจ้าหน้าที่ประเมินอากรทำหน้าที่ประเมินราคาสินค้าและตรวจสอบประเภทพิกัดอัตราศุลกากรและสินค้าสำหรับรายของนายอัจฉรินทร์ว่า พยานได้ตรวจดูเอกสารประกอบใบขนสินค้าขาเข้าแล้วยังไม่สามารถพิจารณาราคาสินค้าที่นายอัจฉรินทร์นำเข้าในขณะนั้นได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างรอการพิจารณา PRICE LIST รถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปของคณะกรรมการติดตามและพิจารณาราคาประเมินที่โจทก์ที่ 1 ตั้งขึ้น ทั้งราคารถยนต์ที่ผู้นำเข้าสำแดงเป็นราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงสั่งตีราคาโดยใช้เกณฑ์การรับราคาตาม PRICE LIST ของปีก่อน และกำหนดให้วางเงินประกัน จึงไม่ขัดต่อระเบียบของโจทก์ที่ 1 และเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากร ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 กับผู้นำเข้าตกลงกันให้ชำระอากรตามจำนวนที่สำแดงและให้วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกัน ทำให้ผู้นำเข้าได้รับรถยนต์ที่นำเข้าไปใช้ก่อน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารถยนต์โดยไม่จำเป็น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินเงินอากรอันพึงต้องเสียและแจ้งให้ผู้นำเข้าทราบแล้ว ผู้นำเข้าก็มีหน้าที่ต้องชำระอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 และ 112 ทวิ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น เมื่อต่อมาคณะกรรมการติดตามและพิจารณาราคาประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ใช้ราคาขายปลีกในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นฐานราคาในการคำนวณราคาประเมินซึ่งอธิบดีของโจทก์ที่ 1 ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เจ้าหน้าที่ประเมินอากรย่อมมีอำนาจที่จะประเมินราคารถยนต์ที่นายอัจฉรินทร์นำเข้าและประเมินค่าภาษีอากรเสียใหม่ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอัจฉรินทร์ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามตามฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสาม.

Share