คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6513/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ ก็หมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เท่านั้น เมื่อคดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ความผิดข้อหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อหานี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๑๕, ๑๑๗ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๒๕, ๒๗, ๕๙ ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทจิ้วฮวด จำกัด และนายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอร่วมเข้าเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ร่วมที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ร่วมที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๕, ๒๗ และ ๕๙ นั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ ๑ เข้าร่วมเป็นโจทก์หมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ เท่านั้น เมื่อคดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ความผิดข้อหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมที่ ๑ ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์และไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อหานี้ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ ๑ ในข้อหาดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย คงรับวินิจฉัยให้เฉพาะอุทธรณ์ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า…
พิพากษายืน.

Share