คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าหนี้รายที่ 3 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้อื่นลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ เจ้าหนี้รายที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/30 เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่มิได้ลงมติยอมรับแผน จึงมีสิทธิคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนได้ตามมาตรา 90/57 และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอันไม่เป็นไปตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 3 ทั้งยังเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 3 จึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า…” หมายความเพียงว่า เมื่อแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/58(1) ถึง (3) อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำแล้วให้ศาลมีดุลพินิจที่จะเห็นชอบด้วยแผนได้ หาได้หมายความว่าถ้าแผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 90/58(1) ถึง (3) แล้ว ศาลต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนทุกกรณีไปไม่
เจ้าหนี้รายที่ 3 มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันและเป็นเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่เช่นเดียวกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และที่ 8 การที่แผนฟื้นฟูกิจการได้นำเจ้าหนี้รายที่ 3 เพียงรายเดียวไปจัดกลุ่มอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันถือว่ามีความมุ่งหมายที่จะเลือกปฏิบัติ พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริตโดยมีการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินบางส่วนโดยการโอนหนี้ของบุคคลภายนอกมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่ 3 และให้เจ้าหนี้รายที่ 3 รับผิดเองในการติดตามหนี้สินแผนฟื้นฟูกิจการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เจ้าหนี้รายที่ 3 เสียเปรียบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทคอนโซลิเดเต็ด คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน

เจ้าหนี้รายที่ 3 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน

เจ้าหนี้รายที่ 11 ยื่นคำคัดค้าน ขอได้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยกับแผนและให้แก้ไขในส่วนของเจ้าหนี้ราชการตามคำคัดค้าน

ผู้ทำแผนและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยื่นคำชี้แจง

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58

เจ้าหนี้รายที่ 3 และที่ 11 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของลูกหนี้และผู้ทำแผนก่อนว่า เจ้าหนี้รายที่ 3 มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ เนื่องจากเจ้าหนี้รายที่ 3 มิได้ร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และไม่ได้ขอแก้ไขแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้ ทั้งมิได้เข้าประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เห็นว่า การอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 3 เป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการปรากฏว่า เจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ เจ้าหนี้รายที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้นั้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/30 เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่มิได้ลงมติยอมรับแผน จึงมีสิทธิคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนได้ตามมาตรา 90/57 และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอันไม่เป็นไปตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 3 ทั้งยังเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางแล้วเจ้าหนี้รายที่ 3 จึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้

ส่วนที่ลูกหนี้และผู้ทำแผนแก้อุทธรณ์ต่อไปว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ศาลมีอำนาจพิจารณาเฉพาะเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 90/58 เท่านั้นและหากแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/58 แล้ว เป็นบทบังคับศาลที่จะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เห็นว่า การที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 กำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนตามมาตรา 90/46 แล้ว ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจในอันที่จะใช้ดุลพินิจคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมและให้แผนฟื้นฟูกิจการเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผนโอกาสความเป็นไปได้ ตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนนั้น ที่มาตรา 90/58 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า…” หมายความเพียงว่าเมื่อแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/58(1) ถึง (3) อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำแล้วให้ศาลมีดุลพินิจที่จะเห็นชอบด้วยแผนได้ หาได้หมายความว่าถ้าแผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 90/58(1) ถึง (3) แล้ว ศาลจึงต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนในทุกกรณีไปไม่

ประการที่สอง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 3 ว่า การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่ ยกดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดและให้ลดหนี้ลงจำนวนเท่ากับจำนวนยอดหนี้คงค้างจากบริษัทสยามซินเท็คคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยให้เจ้าหนี้รายที่ 3 ได้รับสิทธิการชำระเงินดังกล่าวจากบริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) แทนการชำระหนี้ในส่วนหนี้ที่ยังคงค้างให้ได้รับการชำระหนี้ด้วยพื้นที่และหรือสินค้าอื่นภายใน 1 เดือนนับจากวันเริ่มดำเนินการตามแผนนั้น แผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการมีการแบ่งกลุ่มเจ้าหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่เป็น 3 กลุ่ม คือเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 ถึงที่ 8 สำหรับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และที่ 8 ตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ยกดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดและให้ได้รับการชำระหนี้ด้วยพื้นที่และหรือสินค้าอื่น ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 เพียงรายเดียว ตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ยกดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดและให้ลดหนี้ลงจำนวนเท่ากับจำนวนยอดหนี้ที่ลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้บริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยให้เจ้าหนี้รายที่ 3 ได้รับสิทธิการชำระเงินดังกล่าวจากบริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) แทนการชำระหนี้ ในส่วนหนี้ที่ยังคงค้างให้ได้รับการชำระหนี้ด้วยพื้นที่และหรือสินค้าอื่นซึ่งเห็นได้ว่าเจ้าหนี้รายที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่เหมือนกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และที่ 8 ถูกลดหนี้ต้นเงินลงเพียงรายเดียวและให้ได้สิทธิการชำระเงินจากบริษัทสยามซินเท็คคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) แทนที่จะได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ ตามตารางจำนวนหนี้ของลูกหนี้ก่อนและหลังการปรับโครงสร้างหนี้ในแผนฟื้นฟูกิจการหน้า 27 ระบุว่า เจ้าหนี้รายที่ 3 (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7) ก่อนการปรับโครงสร้างหนี้มีต้นเงิน 103,163,005.10บาท และดอกเบี้ยจำนวน 23,805,647.57 บาท หลังจากปรับโครงสร้างหนี้โอนทรัพย์สินชำระหนี้จำนวน 56,087,153.82 บาท แสดงว่าผู้ทำแผนได้จัดทำแผนโดยชำระเงินต้นบางส่วนด้วยการโอนหนี้จากบริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน47,075,851.28 บาท มาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้รายที่ 3 จึงเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษา ซึ่งเจ้าหนี้รายที่ 3 ฟ้องลูกหนี้และศาลพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 9302/2543 ให้ลูกหนี้ชำระหนี้จำนวน 103,062,755.89บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 97,111,610.72 บาท นับแต่วันที่26 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ไม่มีสิทธินำเงินที่ตนเป็นเจ้าหนี้บริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มาหักกับเงินที่ต้องชำระให้เจ้าหนี้ ซึ่งหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุด ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการที่กำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 3 ลดยอดหนี้ลง และให้ได้สิทธิการชำระเงินจากบริษัทสยามซินเท็คคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยการหักชำระหนี้เต็มจำนวนแทนที่จะได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ ซึ่งต่างกับเจ้าหนี้กลุ่มอื่น ๆ ที่กำหนดให้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ การหักชำระหนี้เต็มจำนวนนั้นย่อมทำให้เจ้าหนี้รายที่ 3 เสียเปรียบเจ้าหนี้รายอื่นที่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรง ประกอบกับบริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการและลูกหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว จึงเป็นการไม่แน่นอนว่าบริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะมีเงินชำระให้แก่ลูกหนี้หรือไม่ แม้ว่าเจ้าหนี้รายที่ 3 จะเป็นเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่เพียงรายเดียวที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ส่วนเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่รายอื่นแผนฟื้นฟูกิจการจัดให้อยู่ในเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และที่ 8 ซึ่งโดยหลักแล้วแม้แผนฟื้นฟูกิจการสามารถกำหนดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกันแตกต่างกันออกไปได้เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการก็ตามแต่เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันและเป็นเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่เช่นเดียวกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และที่ 8 การที่แผนฟื้นฟูกิจการได้นำเจ้าหนี้รายที่ 3 เพียงรายเดียวไปจัดเป็นกลุ่มเจ้าหนี้ต่างหาก และได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกับกลุ่มอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันถือว่ามีความมุ่งหมายที่จะเลือกปฏิบัติ พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริตโดยมีการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินบางส่วนโดยการโอนหนี้ของบุคคลภายนอกมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่ 3 และให้เจ้าหนี้รายที่ 3 รับผิดชอบเองในการติดตามหนี้สิน ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เจ้าหนี้รายที่ 3 เสียเปรียบ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 3 ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น และเมื่อศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามที่เจ้าหนี้รายที่ 3 อุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยในอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 11 อีก”

พิพากษากลับว่า ไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/48 วรรคสี่

Share