คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งที่จะเป็นฟ้องซ้ำนั้น คดีก่อนศาลต้องมีคำวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าคดีก่อนโจทก์กับพวกได้ถอนฟ้อง ซึ่งการถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการฟ้องเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 176 นอกจากนี้คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแต่อย่างใด การที่โจทก์นำมูลคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1กับพวกเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยทั้งสอง สำหรับจำเลยที่ 1 จะยกอายุความมรดก1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่ เพราะกฎหมายได้บัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทไว้โดยเฉพาะแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733วรรคสอง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับตั้งแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ดังนั้น ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมอันจะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและให้คืนเงินสดเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาท จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2เป็นกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขการบังคับคดีว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของนางกลิ้ง เสือนา ผู้ตาย โดยการรับมรดกแทนที่นางพัน เอมศรี หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์มรดกที่ดินและเงินฝากให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่ามีพินัยกรรมของผู้ตายยกทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แต่พินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะในวันทำพินัยกรรมผู้ตายไม่มีเงินฝากอยู่ในธนาคาร และลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือที่แท้จริงของผู้ตาย ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะ และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 2คืนเงินมรดกของผู้ตาย และห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของผู้ตายจนกว่าจะได้จัดการแบ่งมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลพินัยกรรมของผู้ตายตามฟ้องสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 โอนที่ดินและมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 2ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้โอนทรัพย์มรดกของผู้ตายต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่ง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมภายในอายุความนับแต่วันรู้เหตุ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมไม่มีผลบังคับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน40,000 บาท แก่โจทก์เพื่อนำไปแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมของนางกลิ้ง เสือนา ผู้ตาย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อแรกมีว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกามีใจความว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าโจทก์เป็นบุตรของนางพัน เอมศรีหรือเสือนาพี่สาวผู้ตาย โจทก์จึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า โจทก์และพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความมีรายละเอียดสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์เป็นบุตรของนางพันเอมศรีหรือเสือนา ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตายร่วมบิดามารดาเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวต่างเป็นบุคคลในเครือญาติใกล้ชิดกับทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสอง ซึ่งเชื่อได้ว่าย่อมรู้ความเป็นไปในเครือญาติได้ดี คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ทั้งจำเลยที่ 1 เองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่าโจทก์เป็นบุตรของนางพันและเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 2มิได้นำสืบหักล้างหรือแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นบุตรของนางพันซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตายดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตรทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วมรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมทั้งนางพันมารดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อนางพันถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและเป็นผู้สืบสันดานของนางพันย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางพัน โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของนางพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อสองมีว่า ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1545/2537 ของศาลชั้นต้นหรือไม่เห็นว่า หลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งที่จะเป็นฟ้องซ้ำอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น คือ คดีก่อนศาลได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1545/2537 ของศาลชั้นต้น โจทก์กับพวกในคดีดังกล่าวได้ถอนฟ้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติว่า การทิ้งคำฟ้องหรือถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้วอาจยื่นใหม่ได้ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ นอกจากนี้คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแต่อย่างใด การที่โจทก์นำมูลคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน จึงไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายมาตรา 148 ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1545/2537 ของศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อสามมีว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ตามทางนำสืบของโจทก์เห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์นำสืบยืนยันว่าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9หรือ ล.4 ไว้ แต่เป็นพินัยกรรมที่มีผู้ทำปลอมขึ้น ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 ขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2534ที่บ้านของนายภักดิ์ อินทรวงศ์ เลขที่ 186 หมู่ที่ 2 ตำบลหัวดง อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งผู้ตายลงลายมือพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้ทำพินัยกรรม นายภักดิ์ลงชื่อเป็นผู้เขียนและพยานรับรองลายมือชื่อ และนางสุกัญญา อินทรวงศ์ บุตรสาวของนายภักดิ์กับนายบรรจง แก้วเอี่ยม น้องชายของจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายมือชื่อ เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบโต้แย้งกันเช่นนี้ คดีมีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อถือฝ่ายใดเห็นว่า ตามคำเบิกความของตัวโจทก์และนางสมวงศ์กับนายประทุมพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวข้างต้นได้ความทำนองเดียวกันว่าก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายเคยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของผู้ตายให้แก่นายประทุม นางกัญญา นายวิเชียร เด็กหญิงปริญญา ศรีสวาท และเด็กชายแสงเทียน ศรีสวาท โดยทำที่ที่ว่าการอำเภอชุมแสงทั้งสิ้น รวมทั้งหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกตามเอกสารหมาย ล.1 ผู้ตายก็ไปทำที่ที่ว่าการอำเภอชุมแสงเช่นเดียวกัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับในเรื่องนี้ เมื่อพิจารณาถึงว่าขณะที่ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับพิพาทตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 ที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างผู้ตายมีอายุประมาณ 80 ปีแล้ว และจากบ้านของผู้ตายซึ่งอยู่ที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง ไปยังบ้านของนายภักดิ์ ที่ตำบลหัวดง อำเภอเก้าเลี้ยว ก็น่าเชื่อว่าเป็นระยะทางที่ห่างไกลกันพอสมควร กรณีจึงไม่น่าจะมีเหตุผลที่ผู้ตายจะต้องเดินทางไกลไปทำพินัยกรรมดังกล่าวถึงอำเภอเก้าเลี้ยว ซึ่งต่างอำเภอท้องที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ผู้ตายก็ได้ทำพินัยกรรมฉบับอื่น ๆ รวมทั้งทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกที่ที่ว่าการอำเภอชุมแสง ซึ่งเป็นอำเภอท้องที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตทั้งสิ้นดังกล่าวแล้วข้อที่นายบรรจงพยานจำเลยทั้งสองเบิกความอ้างว่า เหตุที่ผู้ตายไม่ยอมไปทำพินัยกรรมดังกล่าวที่ที่ว่าการอำเภอชุมแสง เนื่องจากเกรงว่าเจ้าหน้าที่ของอำเภอจะเป็นพรรคพวกของนายประทุมนั้นก็เป็นการง่ายแก่การกล่าวอ้างและเลื่อนลอยจึงขาดน้ำหนักให้รับฟังได้ และข้อเท็จจริงฟังได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ต่อไปว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทเพิ่งปรากฏขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้วประมาณ 2 ปี ยิ่งมีเหตุชวนทำให้ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทไว้นั้นส่อให้เห็นเป็นพิรุธกล่าวคือ ปรากฏว่านายบรรจงเป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 และอ้างว่าเป็นผู้พาผู้ตายไปทำพินัยกรรมฉบับพิพาทที่บ้านของนายภักดิ์ โดยนายบรรจงลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยนายบรรจงจึงย่อมรู้ดีว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทยกที่ดินทั้งสามแปลงและเงินสดในธนาคารให้แก่จำเลยที่ 2 นายบรรจงจึงน่าจะเล่าเรื่องที่ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับพิพาทให้บรรดาทายาทของผู้ตายโดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมทราบเสียตั้งแต่แรกที่ผู้ตายถึงแก่ความตายใหม่ ๆ ไม่น่าจะปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาเกือบ 2 ปี จนถึงเดือนพฤษภาคม 2537 จึงได้เล่าเรื่องให้จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องพินัยกรรมฉบับพิพาท ส่วนข้อที่นายบรรจงเบิกความอ้างว่าหลังจากผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับพิพาทแล้วในต้นปี 2535 พยานและครอบครัวได้ไปอยู่อาศัยที่บ้านพี่ชายที่จังหวัดนนทบุรีประมาณ 2 ปี โดยไปรับจ้างนวดแก่บุคคลทั่วไป จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2537 พยานได้กลับไปหามารดาของพยานที่อำเภอชุมแสงและทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย พยานจึงบอกเล่าเรื่องที่ผู้ตายทำพินัยกรรมให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบก็ดี และข้อที่จำเลยที่ 2 เบิกความอ้างว่า นายบรรจงได้บอกเล่าเรื่องที่ผู้ตายทำพินัยกรรมให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2537 ก็ดี ล้วนแต่เป็นการกล่าวอ้างอย่างง่าย ๆ และเลื่อนลอย ไม่สมเหตุผลให้น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่าลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้ทำพินัยกรรมตามสำเนาพินัยกรรมฉบับพิพาทเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 เป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายนั้น ก็มีข้อส่อพิรุธอยู่กล่าวคือนายภักดิ์เบิกความตอบคำถามติงว่า ผู้ตายพิมพ์ลายหัวแม่มือข้างซ้ายในช่องผู้ทำไม่ทราบ ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนายประทุมพยานโจทก์ที่เบิกความว่า จำเลยที่ 2ไม่เคยเกี่ยวข้องกับผู้ตาย จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยปรนนิบัติรับใช้หรือดูแลเอาใจใส่ผู้ตายเป็นพิเศษก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตาย กรณีย่อมไม่มีมูลเหตุจูงใจเป็นพิเศษที่ผู้ตายจะยกที่ดินทั้งสามแปลงและเงินสดทั้งหมดในธนาคารให้แก่จำเลยที่ 2เมื่อประมวลเหตุผลตามที่กล่าวมาเข้าด้วยกันแล้ว ข้อนำสืบของโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าข้อนำสืบของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกที่ดินทั้งสามแปลงและเงินสดในธนาคารจำนวน 40,000 บาท ของผู้ตายตามกฎหมายข้ออ้างประการอื่น ๆ ในฎีกาของจำเลยทั้งสองที่เกี่ยวกับประเด็นข้อนี้ถึงวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อสี่มีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกามีใจความว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535ซึ่งโจทก์ทราบดีว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายในระหว่างจัดการ จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาท และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายตลอดมา โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายเกินกว่า 1 ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยคำสั่งศาล โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสามแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 40,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จำเลยที่ 1 มอบให้แก่จำเลยที่ 2 ไป จึงเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยทั้งสอง ที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก สำหรับจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจะยกอายุความมรดก 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่ เพราะกฎหมายได้บัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทไว้โดยเฉพาะแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปีนับตั้งแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกอายุความ 5 ปีนี้เท่านั้นขึ้นต่อสู้โจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์จะนำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงความตายของผู้ตายแล้วก็ตามฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ก็ไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 หรืออีกนัยหนึ่งพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมอันจะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกที่ดินทั้งสามแปลงและเงินสดจำนวน 40,000 บาทของผู้ตาย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและให้คืนเงินสดเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทจึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นสุดท้ายมีว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่ได้ถูกฟ้องในฐานะส่วนตัวศาลไม่อาจพิพากษาบังคับโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 บัญญัติไว้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share