คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภริยาขอหย่าขาดจากสามีเมื่อมีหนี้อันเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดู เช่นต้องไปซื้อเชื่อสิ่งของและกู้ยืมเงินผู้มีชื่อมาใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นกับการครองชีพของตัวภริยาและบุตรซึ่งสามีมีหน้าที่ต้องรับผิด และเมื่อภริยาเรียกร้องให้สามีชำระ สามีก็ไม่ชำระให้ ดังนี้ ย่อมตกเป็นภาระแก่ภริยา ภริยาย่อมขอให้ศาลแสดงว่าสามีมีหน้าที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ และศาลก็พิพากษาให้สามีมีหน้าที่ต้องรับผิดในหนี้ตามจำนวนที่ภริยาฟ้องมานั้นได้
ในกรณีดังกล่าวนี้ ภริยาจะฟ้องแทนเจ้าหนี้โดยเจ้าหนี้ไม่ได้มอบอำนาจให้ ไม่ได้ หรือจะฟ้องให้สามีชำระหนี้แก่ภริยาเพื่อภริยาจะได้นำไปชำระแก่เจ้าหนี้ก็ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาจำเลย โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ญาติพี่น้องของจำเลยรังเกียจด่าว่าโจทก์ โจทก์จึงต้องไปอาศัยมารดาโจทก์อยู่ และคลอดบุตรที่นั่น ต่อมาสุขภาพไม่สมบูรณ์ โจทก์ต้องซื้อเชื่อสิ่งของและกู้ยืมเงินผู้มีชื่อมาใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นกับการครองชีพของโจทก์และบุตรเป็นเวลา 2 ปีเศษ รวมเป็นเงิน 2,852บาท เวลานี้เจ้าหนี้ทวงเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ โจทก์ขอร้องให้จำเลยชำระหนี้แทนโจทก์บ้าง จำเลยก็ไม่ยอมชำระให้ทั้งไม่จ่ายค่าครองชีพให้โจทก์และบุตรต่อไป ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากสามีภริยากัน และให้จำเลยชำระหนี้ค่าครองชีพโจทก์และบุตร ให้เจ้าหนี้แทนโจทก์เป็นเงิน 2,852 บาท

วันนัดพร้อมกัน โจทก์จำเลยตกลงกันว่า ในข้อหย่านั้นต่างฝ่ายต่างยอมหย่าขาดจากกัน ส่วนข้อขอให้ชำระหนี้ ค่าครองชีพให้แทนโจทก์นั้น จำเลยไม่ยอม และปฏิเสธว่า ไม่มีหนี้ จึงสืบพยานในข้อนี้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงดูโจทก์และบุตรรวม 2,200 บาท หักเงินที่จำเลยให้โจทก์ไว้แล้ว 200 บาท จึงคงให้จำเลยชำระแก่โจทก์ 2,000 บาท ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากสามีภริยากันและบุตรนั้นให้อยู่กับโจทก์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกามีความว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดู หรือว่าฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้แทนโจทก์ จำเลยเห็นว่าเป็นฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้แทนโจทก์ หรืออีกนัยหนึ่งฟ้องแทนเจ้าหนี้ ซึ่งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าตามฟ้องถือว่า เป็นการฟ้องแทนเจ้าหนี้ดังจำเลยเข้าใจแล้วก็เป็นการแน่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หรือหากจะแปลฟ้องไปในทางที่ว่า โจทก์ขอให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้ไปชำระให้เจ้าหนี้อีกต่อหนึ่ง ดังความเห็นศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจทำให้ได้ดุจกัน เพราะถ้าจำเลยชำระให้โจทก์แล้ว หากโจทก์ไม่เอาไปชำระให้เจ้าหนี้ ความรับผิดของจำเลยต่อเจ้าหนี้ก็หาหมดไปไม่ อีกประการหนึ่งตามกฎหมาย สามีย่อมเป็นผู้จัดการทรัพย์สินบริคณห์ หาใช่ภริยา ดังนั้น จะให้จำเลยผู้เป็นสามีต้องชำระหนี้ให้โจทก์ผู้เป็นภริยา เพื่อไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า คำขอของโจทก์ในข้อนี้ เมื่ออ่านประกอบกับคำบรรยายฟ้องโดยตลอดแล้ว โจทก์คงมุ่งหมายแต่เพียงขอให้ศาลแสดงว่า จำเลยมีหน้าที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะขอให้แสดงเช่นนั้นได้ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า โจทก์ขอหย่าขาดจากจำเลยแล้ว เมื่อมีหนี้อันเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิด และเมื่อโจทก์เรียกร้องก็ไม่ชำระให้ดังนี้ ย่อมตกเป็นภาระแก่โจทก์อยู่ เป็นการจำเป็นที่โจทก์จะต้องขอให้ศาลแสดงเสียให้ปรากฏว่า หนี้รายนี้มีอยู่จริงหรือไม่เพียงไร และจำเลยจะต้องรับผิดหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ศาลล่างพิพากษาบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ 2,000 บาท ให้แก่โจทก์จึงยังคลาดเคลื่อน

จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยมีหน้าที่ ต้องรับผิดในหนี้ 2,000 บาทที่โจทก์ฟ้องรายนี้

Share