คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ฯ มาตรา 3 ได้บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ฯมาตรา 3 กำหนดให้ส่วนงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นและมาตรา 5 กำหนดให้ส่วนงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าประกาศโฆษณาและการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และให้คำปรึกษาแนะนำและบริการเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ จึงอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง นั้น มีความหมายเพียงว่าผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานอื่นอีกไม่ได้เท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีนี้ได้ชื่อเมืองหลวงของประเทศและชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ แต่คำว่า “PHOENIX” ไม่ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ เพราะเป็นเพียงชื่อเมืองหลวงของมลรัฐหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกามิใช่ชื่อเมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา และจะถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ เสียทีเดียวหาได้ไม่ เพราะยังจะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าเป็นชื่อเมืองที่ประชาชนทั่วไปรู้จักหรือไม่ หากประชาชนทั่วไปไม่รู้จักแล้วก็ถือว่าเป็นชื่อที่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนแม้โจทก์จะมิได้มีคำขอมาท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย แต่ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องมีคำสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(5) และมาตรา 167 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มิได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมมาจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนคำว่า “PHOENIX” เป็นเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 2 มีคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “PHOENIX” ของโจทก์ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยให้ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อรับจดทะเบียนต่อไป
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวมทั้งไม่มีอำนาจที่จะไปเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เครื่องหมายการค้าคำว่า “PHOENIX” เป็นชื่อเมืองหลวงของรัฐอริโซนาประเทศสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “PHOENIX” ของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ด้วยหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจบังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาตรวจสอบคำขอของโจทก์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจเพิกถอนคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวมทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เห็นว่า พระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ฯ พ.ศ. 2535มาตรา 3 ได้บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์หรือของเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535มาตรา 3 กำหนดให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น รวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น และมาตรา 5 กำหนดให้กองตรวจสอบ 2 ของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า กองทะเบียนและหนังสือสำคัญของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการประกาศโฆษณาและการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จัดเก็บเอกสารทางทะเบียน รวมทั้งออกหนังสือรับรองและต่ออายุทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และกองบริการและเผยแพร่ของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำและบริการเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและจัดทำสารบบและกำกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นไปตามกฎหมาย จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ที่เป็นข้อพิพาทกันในคดีนี้อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยที่ 1 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อให้ร่วมรับผิดได้ทั้งนี้โดยเทียบเคียงแบบอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2541 ระหว่างนายสุรชาติ ฉวีวงศ์พงษ์เดช โจทก์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประการต่อไปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถึงที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 หรือไม่เห็นว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 นั้น มีความหมายเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีนี้ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประการสุดท้ายว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “PHOENIX” ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเลขที่ 387011 เอกสารหมาย จ.3ของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งไม่อาจรับจดทะเบียนได้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ปรากฏตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ในสำเนาคำขอจดทะเบียน เอกสารหมาย จ.3 ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 เพราะเครื่องหมายคำว่า”PHOENIX” เป็นชื่อเมืองหลวงของรัฐอริโซนาในประเทศสหรัฐอเมริกานับว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7(2) และปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 732/2543 เอกสารหมาย จ.16 ว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “PHOENIX” เป็นชื่อเมืองหลวงของรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) จึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 สำหรับหลักฐานที่โจทก์นำส่งเพื่อนำสืบลักษณะบ่งเฉพาะนั้นยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงมีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้ยกอุทธรณ์เสีย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้ว เห็นว่า สำหรับความหมายคำว่า “PHOENIX” ตามทางพิจารณาได้ความว่า หมายถึง นกในนิยายอยู่ในทะเลทรายอาระเบียซึ่งบินเข้ากองไฟและชุบชีวิตขึ้นใหม่ นอกจากนี้ยังหมายถึง ชื่อเมืองหลวงของรัฐอริโซนาในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เอกสารหมาย จ.17ระบุว่า “ชื่อทางภูมิศาสตร์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
1. ชื่อประเทศรวมทั้งเขตอิสระซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศ ชื่อกลุ่มประเทศที่รู้จักกันแพร่หลายหรือชื่อภูมิภาค
2. ชื่อทวีปหรืออนุทวีป
3. ชื่อมหาสมุทร
4. ชื่อเมืองหลวงของประเทศ
5. ชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ เช่น ชื่อเมืองท่า จังหวัด อำเภอ ตำบล มณฑล เกาะ ภูเขา แม่น้ำ ทะเลหรือทะเลสาป ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จัก” ดังนั้น คำว่า “PHOENIX”จึงไม่ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535)ข้อ 4 เพราะเป็นเพียงชื่อเมืองหลวงของมลรัฐหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มิใช่ชื่อเมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็จะถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวในข้อ 5 เสียทีเดียวหาได้ไม่ เพราะยังจะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าเป็นชื่อเมือง “ที่ประชาชนทั่วไปรู้จัก” หรือไม่ หากประชาชนทั่วไปไม่รู้จักแล้วย่อมไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) ข้อ 5 อันจะถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 6 แต่ตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวข้างต้น ยังมิได้นำหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) ข้อ 5 ข้อที่ว่า ประชาชนทั่วไปรู้จักคำว่า “PHOENIX” เป็นชื่อเมืองหลวงของรัฐอริโซนาหรือไม่ ขึ้นพิจารณาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่จำเลยทั้งหกนำสืบและอุทธรณ์อ้างว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาปัญหาข้อนี้แล้วเห็นว่าเป็นชื่อเมืองโด่งดังที่ประชาชนทั่วไปรู้จักเพราะมีการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลและบาสเกตบอลเอ็นบีเอ จึงมีสื่อมวลชนเสนอข่าวเมืองนี้อย่างแพร่หลายนั้นเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้ เพราะหากมีการพิจารณาปัญหาข้อนี้แล้วจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะไม่ระบุเหตุผลข้อนี้ให้ปรากฏในคำวินิจฉัยเอกสารหมาย จ.3 และ จ.16 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือที่ พณ 0704/6551 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 732/2543 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “PHOENIX” ของโจทก์และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “PHOENIX” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 387011ต่อไปนั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยทั้งหกฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอมาท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย แต่ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องมีคำสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 141(5) และมาตรา 167 บัญญัติไว้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมมาด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share