แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 3 เจ้าของเรือ ก. ซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้รับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ผู้ส่งไว้ในความดูแลแล้ว แม้ว่าตู้สินค้าจะยังมิได้ถูกขนถ่ายลงเรือ ก. และเรือ ก. ยังมิได้ออกใบตราส่งสินค้ารายนี้ให้โจทก์ผู้ส่งสินค้าก็ตาม เมื่อปรากฎว่า สินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหาย ก็ถือได้ว่าความเสียหายของสินค้าได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่ง ตามมาตรา 39 พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๙๔๑,๐๐๕.๘๓ บาท พร้อมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๘๘๖,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับจ้างขนส่งสินค้าทุเรียนดิบให้โจทก์
โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินความจริง
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ ไม่เคยประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางเรือออกนอกประเทศและนำเข้าในประเทศ ไม่เคยประกอบกิจการขนส่งทางทะเลโดยมีบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ
จำเลยที่ ๓ ไม่ได้รับจ้างขนส่งสินค้าทุเรียนดิบให้โจทก์
ความเสียหายของสินค้าไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของผู้ขนส่งหรือจำเลยที่ ๒
ผู้ขนส่งยังไม่ได้ขนถ่ายสินค้าลงเรือและยังไม่ได้รับเงินค่าระวาง จึงต้องถือว่าผู้ขนส่งยังไม่ได้รับจ้างขนส่งสินค้าคดีนี้ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ความเสียหายเกิดจากสภาพสินค้าและความผิดของโจทก์เองที่ไม่ทำการลดอุณหภูมิความร้อนในผลทุเรียน หรือที่เรียกว่า พรีคูล (pre – cool) ก่อนบรรจุเข้าตู้
ทำให้อุณหภูมิภายในตู้ร้อน เครื่องทำความเย็นของตู้ต้องทำงานหนักขึ้น อุณหภูมิในตู้สูงกว่าที่โจทก์กำหนดให้ตั้งไว้ ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิด สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาจำนวน ๘๘๖,๐๐๐ บาท นั้นสูงเกินความจริงและเกินกว่าสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งหากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องรับผิด ก็รับผิดไม่เกินหน่วยการขนส่งละ ๑๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงินจำนวน ๕๕๙,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องคือวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ ๓ ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์มีความประสงค์จะจัดส่งทุเรียนดิบจำนวน ๙๐๐ กล่อง น้ำหนัก ๑๕,๗๕๐ กิโลกรัม จากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ไปให้แก่บริษัทโกลด์เคปฟาร์อีสต์ จำกัด ผู้ซื้อที่เมืองฮ่องกงโจทก์ได้ติดต่อจำเลยที่ ๑ ให้ดำเนินพิธีการศุลกากร จองตู้สินตู้ และจองระวางเรือให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้ติดต่อจองระวางเรือกัวติง ของจำเลยที่ ๓ โดยผ่านจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนเรือกัวติง ในประเทศไทย จำเลยที่ ๑ ได้ออกเอกสารการจองระวางเรือและตู้สินค้าให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้จัดตู้สินค้าชนิดมีเครื่องทำความเย็นหมายเลข วายเอ็มแอลยู ๕๒๑๐๗๙๑ ของจำเลยที่ ๓ ให้แก่โจทก์ โจทก์ได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ติดต่อว่าจ้างรถยนต์หัวลากของบริษัทฟอลคอนคอนเทน-เนอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ขนตู้สินค้าดังกล่าวไปที่โรงงานของโจทก์ที่จังหวัดจันทบุรี บริษัทดังกล่าวขนตู้สินค้าไปถึงโรงงานของโจทก์เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๑ โจทก์ได้นำทุเรียนดิบซึ่งชุบน้ำยาแล้วบรรจุลงในกล่องกระดาษ กล่องละประมาณ ๓ ถึง ๔ ลูก แล้วนำกล่องกระดาษบรรจุเข้าตู้สินค้าโดยวางเรียงซ้อนกันจนเต็ม แล้วปิดตู้สินค้าและเปิดเครื่องทำความเย็นของตู้สินค้า ซึ่งตั้งอุณหภูมิไว้ที่ ๑๓ องศาเซลเซียล ต่อจากนั้นบริษัทฟอลคอนคอนเทนเนอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ได้ขนตู้สินค้าดังกล่าวไปส่งยังลานวางตู้สินค้าท่าเรือเอสโกของบริษัทอิสเทิร์นซีแหลมฉบัง จำกัด ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๑ ขณะนั้นอุณหภูมิภายในตู้สินค้าอยู่ที่ ๓๑ องศาเซลเซียล ในวันที่ ๒๖ และ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๑ ตู้สินค้าดังกล่าวยังคงวางไว้ที่เดิมและอุณหภูมิภายในตู้สินค้าดังกล่าวอยู่ระหว่าง ๒๖ ถึง ๓๐ องศาเซลเซียล พนักงานบริษัทอิสเทิร์นซีแหลมฉบัง จำกัด ได้แจ้งถึงความผิดปกติให้จำเลยที่ ๒ ทราบ จำเลยที่ ๒ จึงแจ้งบริษัทเอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพของสินค้าในตู้สินค้าดังกล่าว ผลการตรวจสอบพบว่าตู้สินค้านั้นตั้งอุณหภูมิภายในตู้สินค้าไว้ที่ ๑๓ องศาเซลเซียล แต่อุณหภูมิภายในตู้สินค้าอยู่ที่ ๒๖ องศาเซลเซียล อุณหภูมิของเนื้อทุเรียนอยู่ที่ ๓๒ องศาเซลเซียล ขณะที่อุณหภูมิภายนอกตู้สินค้าอยู่ที่ ๓๙ องศาเซลเซียล สภาพทุเรียนบางลูกดิบบางลูกก็สุกขนาดพอรับได้ แต่หากนำบรรทุกลงเรือไป ทุเรียนย่อมสุกมากขึ้นและเน่าเสียระหว่างการเดินทาง จำเลยที่ ๒ ปฏิเสธไม่รับขนตู้สินค้าดังกล่าวบรรทุกลงเรือ โจทก์จึงนำทุเรียนทั้งหมดกลับไปที่โรงงานของโจทก์ และนำทุเรียนทั้งหมดออกขายได้เงินจำนวน ๘๐,๕๐๐ บาท มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ในข้อแรกว่า ความเสียหายของ สินค้าในตู้สินค้าคือทุเรียนดิบสุกก่อนกำหนดนั้นเกิดขึ้นในระหว่างสินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๓ หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนเรือกัวติง ของจำเลยที่ ๓ รับจองระวางเรือและจัดตู้สินค้าชนิดมีเครื่องทำความเย็น ซึ่งดำเนินการแทนโจทก์ ย่อมก่อให้เกิดความผูกพันตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ แต่การที่จะเรียกให้จำเลยที่ ๓ รับผิดในความเสียหายของสินค้าของโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓๙ ข้อเท็จจริงต้องได้ความว่าเสียหายของสินค้าที่ขนส่งได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๓ ซึ่งในวรรคสองของมาตรา ๓๙ บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของหรือตัวแทนผู้ส่งของหรือจาก เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าต้นทางที่บรรทุกของลงเรือกำหนดให้ผู้ส่งของต้องมอบของที่จะส่งไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าวจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๐ เมื่อตู้สินค้าในคดีนี้ถูกนำเข้าไปวางไว้ที่ลานวางตู้สินค้าของท่าเรือเอสโกนั้น ถือได้ว่าเรือกัวติงหรือจำเลยที่ ๓ ได้รับมอบตู้สินค้าไว้ในความดูแลแล้ว แม้ว่าตู้สินค้าจะยังมิได้ถูกขนลงเรือกัวติง และเรือกัวติงยังมิได้ออกใบตราส่งสินค้ารายนี้ให้โจทก์ก็ตาม เมื่อปรากฏว่าสินค้าทุเรียนดิบสุกก่อนกำหนดขณะที่อยู่ลานวางตู้สินค้าของ ท่าเรือเอสโก ถือได้ว่าความเสียหายของสินค้าได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๓ แล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ เสียด้วย
นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง