แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องบอกเลิกเป็นหนังสือ หากผู้ให้เช่าซื้อกระทำการใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ออกให้เช่าซื้ออีกต่อไป ก็ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว การที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว
ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า ขอถือเอาคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยทั้งสองนั้น เป็นข้อฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร พร้อมด้วยเหตุผลที่คัดค้าน เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ขอให้ยกฟ้องคำขอส่วนที่เกินจำนวนค่าเสียหายดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่า ทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๖๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๓,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อ รถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ในราคา ๓๒๘,๘๙๖ บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ๔๘ งวด งวดละ ๖,๘๕๒ บาท ต่อเดือน งวดแรกชำระวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๙ งวดต่อไปชำระทุกวันที่ ๒๕ ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยจำเลยที่ ๒ เป็น ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจากโจทก์และชำระค่าเช่าซื้อเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าเช่าซื้อ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ โจทก์ยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ ๑ และนำออกประมูลขายได้เงิน ๑๗๑,๐๒๘.๐๔ บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เลิกกันแล้ว หรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำกันไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๕ ข้อ ๑๐ มีข้อตกลงว่า “ในกรณีที่ ผู้เช่าซื้อ (ก) ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกัน สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน ๗ คน และปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของเจ้าของแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อละเลยหรือเพิกเฉยเสียไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่ วันที่ได้รับหนังสือนั้น หรือถ้ารถยนต์ประเภทอื่นผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งโดยเจ้าของไม่จำต้องบอกกล่าว ล่วงหน้า หรือ
เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ทันที
” เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ แอล ๒๐๐ ไซโคลน ซึ่งจำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อเบิกความว่า เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาเพื่อใช้ประกอบการค้าขายผักและผลไม้ ดังนั้น รถยนต์ที่เช่าซื้อจึงไม่ใช่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน ๗ คน หากแต่เป็นรถยนต์ประเภทอื่น ซึ่งเมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดนัด ไม่ชำระค่าเช่าซื้อเพียงงวดใดงวดหนึ่ง โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๐ ดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ ๑ รับกันว่า จำเลยที่ ๑ ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์รวม ๔ งวดเศษ หลังจากนั้นไม่ชำระอีกเลย ถือว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัด ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวได้ทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ทราบล่วงหน้าเพื่อให้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างมาชำระก่อน คดีนี้แม้จะให้รับฟังตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีหนังสือบอกเลิก สัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลยที่ ๑ ณ ที่อยู่แห่งอื่นที่มิใช่ที่อยู่หรือภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดย ไม่ชอบก็ตาม แต่ภายหลังนั้นปรากฏต่อมาว่าโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาจากจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ เพราะจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตั้งแต่งวดที่ ๕ เป็นต้นไป ถือได้ว่าการที่ โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ทั้งนี้เพราะการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องบอกเลิกเป็นหนังสือ หากผู้ให้เช่าซื้อกระทำการใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ออกให้เช่าซื้ออีกต่อไป ก็ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองที่อ้างเพียงว่า ขอถือเอาคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า เป็นข้อฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร พร้อมด้วยเหตุผลที่คัดค้าน เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.