แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า ตามที่ศาลฎีกาได้สั่งคำร้องของโจทก์ร่วมที่คัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลฎีกาโดยคำสั่งคำร้องลงวันที่ 25 เมษายน 2531 ว่า “พิเคราะห์แล้วแม้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในคำสั่งศาลฎีกา ลงวันที่ 26ตุลาคม 2530 ได้เคยสั่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งคดีเดียวกันนี้ในชั้นอุทธรณ์มาแล้วก็ตาม แต่การสั่งคำร้องในชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวมิใช่เป็นการพิจารณาพิพากษาคดี และมิใช่เป็นการนั่งพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(9),11(5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิคัดค้านให้ยกคำร้อง” นั้น โจทก์ร่วมขอโต้แย้งคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวว่าศาลฎีกามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะตามบทบัญญัติมาตรา 19,20,24แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม นั้น โจทก์ร่วมเห็นว่า การนั่งพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาคือการนั่งพิจารณาโดยการตรวจสำนวนความที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณามาแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246,247 ก็ให้นำบทบัญญัติตั้งแต่ภาค 1 ลักษณะ 1 ถึง 5 มาใช้ในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 215,225 ก็ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา พิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้น มาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาโดยอนุโลม ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11(5)ไม่ได้บัญญัติเด็ดขาดว่าการพิจารณา คือการชี้สองสถาน สืบพยานทำการไต่สวน ฟังคำขอต่าง ๆ ฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา จึงใช้คำว่า “การนั่งพิจารณา” หมายความว่าการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณา “เช่น” ซึ่งอาจมีอย่างอื่นอีกได้หลายประการเมื่อพิจารณาตามบทที่โจทก์ร่วมยกขึ้นกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นได้ว่าศาลฎีกาพิจารณาคดีก็อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 11(5) เช่นกัน มิฉะนั้นแล้วผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีคุณสมบัติต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา11(1),(2),(3),(4),(6),(7) ซึ่งนั่งพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ก็ย่อมเป็นองค์คณะพิจารณาได้เช่นกัน ด้วยเหตุดังกล่าวโจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิคัดค้านได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ซึ่งมิได้กำหนดให้คัดค้านได้เพียงครั้งเดียว ขอได้โปรดมีคำสั่งยกคำสั่งคำร้องลงวันที่ 25 เมษายน 2531 และคำสั่งคำร้องลงวันที่ 26 ตุลาคม 2530 และมีคำสั่งใหม่ให้ชอบด้วยกฎหมาย กับได้โปรดพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วมตามขั้นตอนว่ามีการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวนเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความหรือไม่ไม่ชอบที่จะพิจารณาถึงขั้นพิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าเป็นดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งชอบที่จะพิจารณาในชั้นพิจารณาคดี และชอบที่จะพิจารณาสั่งในข้ออุทธรณ์ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ทุกข้อด้วย
หมายเหตุ จำเลยยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358,83,91 ฯลฯ
ระหว่างพิจารณา นายสมพันธ์ น้อยสง่า ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม และขอเพิ่มเติมฐานความผิด โดยขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,365 ด้วย
ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อหาบุกรุกส่วนข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ไม่รับฎีกา (อันดับ 124)
โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง (อันดับ 126)
ศาลฎีกาสั่งคำร้องดังกล่าวของโจทก์ร่วมโดยคำสั่งคำร้อง
ศาลฎีกาที่ 1292 พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2530(อันดับ 137)
โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งคำร้องดังกล่าว(อันดับ 141)
ศาลฎีกาสั่งคำร้องดังกล่าวของโจทก์ร่วมโดยคำสั่งคำร้อง
ศาลฎีกาที่ 519 พ.ศ. 2531 ลงวันที่ 25 เมษายน 2531 และศาลชั้นต้นได้อ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2531(อันดับ 150)
โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องนี้คัดค้านคำสั่งคำร้องดังกล่าว(อันดับ 154)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คำร้องของโจทก์ร่วมโต้แย้งในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ร่วมเคยยื่นคำร้องกรณีคัดค้านผู้พิพากษา เพื่อให้มีผลอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ร่วมไปแล้ว โจทก์ร่วมจะมายื่นคำร้องโต้แย้งในเรื่องเดียวกันซ้ำอีกหาได้ไม่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง