คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคสาม กับความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80 เป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 55 78 วรรคหนึ่ง และต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เพราะการกระทำตามความผิดดังกล่าวมีการกระทำที่แยกจากกันเป็นแต่ละฐานความผิดได้ชัดเจน ไม่เกี่ยวเนื่องกัน
ความผิดฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละอันแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๔๘, ๒๘๙, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๑๓๘, ๑๔๐, ๓๗๑, ๘๐, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒ ทวิ, ๗๘ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๒) (๗) ประกอบมาตรา ๘๐, ๑๓๘ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๔๐ วรรคสาม, ๓๗๑, ๘๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๕๕, ๗๒ ทวิ วรรคสอง, ๗๘ วรรคหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๕๒ (๑) ซึ่งเป็นบทหนัก ตามมาตรา ๙๐ ให้วางโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวง ฯ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิงเทียมอาวุธปืน มาตรา ๕๕, ๗๘ วรรคหนึ่ง ให้วางโทษจำคุก ๑๐ ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรสอง ซึ่งเป็นบทหนัก ให้วางโทษจำคุก ๓ ปี ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เมื่อเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก ๕๐ ปี ตามมาตรา ๕๓ แล้ว คงจำคุกไว้ ๔๔ ปี ๔ เดือน ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก ๖ ปี ๘ เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๒ ปี รวมสามกระทงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๔๒ ปี ของกลางให้ริบ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกจำเลยรวม ๓ กระทง คงจำคุก ๔๑ ปี ๑๒ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืนพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืนพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ มีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครองดังที่โจทก์ฟ้อง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหามีว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๐ วรรคสาม กับความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๘๐ เป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ วรรคหนึ่ง และต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง เพราะการกระทำตามความผิดดังกล่าวมีการกระทำที่แยกจากกันเป็นแต่ละฐานความผิดได้โดยชัดเจน ไม่เกี่ยวเนื่องกัน ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้นั้นเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละอันแตกต่างจากกัน และยังเป็นความผิดต่างฐานกันอีกด้วย จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
พิพากษายืน

Share